แม้ว่าการสอบ ก.พ. เพื่อเข้ารับราชการของไทย จะเป็นหนึ่งในการสอบที่มีผู้สมัครเข้าแข่งขันจำนวนมาก และเป็นหนึ่งในสนามสอบที่มีการแข่งขันสูงที่สุด แต่ด้วยคำพูดที่ว่า “ถ้าอยากมีอาชีพที่มั่นคงก็ต้องเป็นข้าราชการ” แล้ว หลายคนจึงทุ่มเทอ่านหนังสือ เพื่ออาชีพในฝันนี้
และในช่วงเดือนกุมภาพันธ์แบบนี้ แน่นอนว่า การสมัครสอบ ก.พ. ของไทยน่าจะคึกคักไม่เบา วันนี้ beartai BRIEF จะพาทุกคนย้อนกลับไปดู การสอบจอหงวน สนามสอบที่ขึ้นชื่อว่าโหดหินที่สุดของจีนโบราณ เพื่อค้นหายอดฝีมือในการเข้ามารับราชการในราชสำนัก
หนทางยกระดับคุณภาพชีวิต
ฉากที่เราคุ้นเคยกันดีในหนังจีนคงหนีไม่พ้นการการสอบจอหงวน หรือการสอบคัดเลือกข้าราชการ เพื่อเข้าไปทำงานในราชสำนักจีนโบราณ โดยวิธีการคือการนำเด็กหนุ่มหัวกะทิจากทั่วประเทศมาสอบแข่งขัน ประชันความรู้ จนเหลือเพียง 1 เดียว ซึ่งไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ชนชั้นไหนก็สามารถเข้าสอบได้ ทำให้พ่อแม่ต่างวาดหวังให้ลูกชายเฉลียวฉลาดมากพอที่จะสอบผ่านเพื่อเข้าสู่ราชสำนัก และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการสอบนี้จะจัดขึ้นทุก ๆ 3 ปี ใครที่พลาดก็ต้องกลับบ้านไปอ่านหนังสือ และรอเวลาการสอบครั้งถัดไปค่ะ
แต่! แต่! แต่! การสอบนี้จริง ๆ แล้วไม่ได้เรียกว่า “จอหงวน” เพราะชื่อจริง ๆ ของการสอบเรียกว่า “เคอ จู่” (kē jǔ) ส่วนคำว่า “จอหงวน” เป็นการออกเสียงแบบที่นิยมในเมืองไทย โดยเพี้ยนมาจากสำเนียงกวางตุ้งผสมกับแต้จิ๋ว ส่วนภาษาจีนกลาง คือ “จ้วงหยวน” ซึ่งเป็นชื่อเรียกตำแหน่งของผู้ที่สอบได้คะแนนสูงสุด
การสอบจอหงวนมีมาอย่างยาวนาน โดยสามารถย้อนประวัติกลับไปได้ไกลถึงช่วงคริสตวรรษที่ 7 ในสมัยราชวงศ์สุยของจีน หรือถ้าคิดง่าย ๆ ก็คือเมื่อ 1,300 ปีมาแล้ว
ปัจจุบัน ประเทศจีนไม่มีการสอบจอหงวนแล้ว แต่ก็ถึงพูดถึงอยู่บ่อย ๆ ทั้งในภาพยนตร์และซีรีส์จีนโบราณ รวมถึงเป็นการเปรียบเปรยถึงการสอบแข่งขันที่โหดหิน เพื่อเฟ้นหาคนมีไหวพริบและสติปัญญาดี เพราะการสอบนี้ต้องแลกมาด้วยความยากลำบากอย่างสาหัส!
ทำข้อสอบข้ามวัน! ข้ามคืน!
ลำบากยังไงน่ะหรอ? เอาเป็นว่าการสอบนี้ไม่ใช่แค่การเอาคนฉลาด ๆ มาเขียน ๆ กา ๆ ข้อสอบ พอได้คะแนนผ่านเกณฑ์ก็จบเข้าไปนั่งทำงานสบาย ๆ เพราะคุณจะต้องสอบทั้งหมด 3 รอบใหญ่ ๆ ด้วยกัน แถมรอบสุดท้ายฮ่องเต้จะเป็นคนคุมสอบเองเสียด้วย!
ตามประวัติศาสตร์แล้ว การสอบจอหงวนจะใช้เวลาข้ามวันข้ามคืน โดยผู้เข้าทุกคนจะต้องนั่งอยู่บนตั่งของตนเอง และมีฉากกั้นรอบทิศทาง เพื่อป้องกันการลอก และจะต้องเขียนคำตอบให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด โดยวิชาที่ใช้ในการสอบนั้น อาจจะแตกต่างกันไปบ้างตามยุคสมัย แต่วิชาหลักที่เราจะเห็นกันมี 6 วิชา ได้แก่ ศาสนา, ดนตรี, คณิตศาสตร์, การคัดลายมือ, การขี่ม้า และการยิงธนู
แม้ว่า 6 วิชาจะฟังดูไม่เยอะ แต่เนื้อหาการสอบนั้นลงลึกและครอบคลุมถึงยุทธศาสตร์ทางทหาร, การบริหารประเทศ, มุมมองทางด้านคุณธรรม รวมถึงปรัชญาขงจื้อ ซึ่งเป็นศาสนาหลักของจีนโบราณ เรียกได้ว่า เนื้อหาการสอบนั้น มีขึ้นเพื่อค้นหาผู้ที่ทั้งเฉลียวฉลาด แข็งแรง มีความเชี่ยวชาญในด้านการเมือง การปกครอง และมีคุณธรรมสูงส่ง เพื่อมาช่วยฮ่องเต้บริหารบ้านเมืองนั่นเอง
การสอบจะแบ่งเป็นรอบ ๆ โดยรอบแรก เรียกว่า ซิ่วไฉ เป็นการสอบแข่งขันระดับท้องถิ่นที่จัดขึ้นปีละครั้ง ซึ่งเป็นการไล่ระดับไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ไปจนถึงระดับจังหวัด
สำหรับการสอบรอบที่ 2 เรียกว่า จวี่เหริน เป็นการสอบระดับภูมิภาค ซึ่งจะจัดขึ้นทุก ๆ 3 ปี และผู้ที่จะมีสิทธิ์สอบรอบนี้ได้ ต้องสอบผ่านรอบซิ่วไฉมาก่อน และการสอบรอบสุดท้าย เรียกว่า จิ้นซื่อ จะจัดขึ้นในพระราชวังต้องห้าม ซึ่งฮ่องเต้จะเป็นผู้ออกข้อสอบ และควบคุมการสอบเอง
โดยผู้ที่เข้าสอบในรอบนี้จะถูกเรียกว่า “ก่งเซิ่ง” สำหรับการสอบในรอบนี้ ไม่ได้เป็นการคัดว่าใครตก แต่เป็นการวัดว่าใครจะได้เป็นอันดับ 1 ของแผ่นดิน ซึ่งจะได้ตำแหน่ง จอหงวน ไป ส่วนอันดับ 2 และ 3 จะได้ตำแหน่ง ป๋างเหยี่ยน และ ทั่นฮัว ตามลำดับ ด้วยเหตุผลนี่เอง การสอบนี้จึงถูกเรียกอย่างลำลองว่า สอบจอหงวน เพราะคำนี้แปลว่า ยอดเยี่ยมเป็นที่หนึ่ง นั่นเอง
ต้นแบบของการสอบข้าราชการ
การสอบจอหงวนถือเป็นต้นแบบที่หลายชาติในเอเชียได้รับอิทธิพลและนำไปประยุกต์ใช้ เช่น ราชวงศ์โคเรียวและราชวงศ์โชซอนของเกาหลี, ราชวงศ์หลีจนถึงราชวงศ์เหงียนของเวียดนาม รวมถึงสมัยเฮอันของญี่ปุ่น
ตำแหน่งจอหงวนเปรียบเสมือนที่ปรึกษาส่วนตัวของฮ่องเต้ คอยช่วยราชกิจ บริหารบ้านเมืองให้ร่มเย็น ประชาชนกินอยู่เป็นสุข ดังนั้น ความหมายที่ว่า “ยอดเยี่ยมเป็นที่หนึ่ง” ในแผ่นดิน จึงไม่ได้หมายถึงคนที่ฉลาดที่สุดเท่านั้น แต่หมายถึง คนที่ฉลาดในการบริหารบ้านเมือง และมีคุณธรรมในการนำพาประเทศไปสู่ความเจริญและร่มเย็นนั่นเอง
ที่มา : baidu ChinaKnowledge
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส