“แหม!!! ตัวติดกันเป็นปาท่องโก๋เลยนะ” คือ คำเปรียบเปรยแสนจะคุ้นหู เมื่อได้ยินก็รู้ว่าน่าจะเป็นการแซวคนคลั่งรัก ซึ่งจุดเด่นของปาท่องโก๋ที่ต้องอยู่ติดกันเป็นคู่ จึงกลายเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของความรักใคร่กลมเกลียว ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น จนแทบจะขาดกันไม่ได้ เมื่อฟังดูแล้ว ปาท่องโก๋ก็น่าจะเป็นขนมที่่มีจุดเริ่มต้นมาจากความรักใช่ไหมละ? แต่ความจริงมันคือขนมต้องคำสาป!!
ต้นกำเนิดจากความแค้น
ตำนานที่น่าเศร้าของปาท่องโก๋ถูกเล่าต่อ ๆ กันมาว่า ในสมัยราชวงศ์ซ่ง (Song Dynasty) ของจีนโบราณ มีทหารนายหนึ่งชื่อว่า ‘งักฮุย’ เป็นแม่ทัพที่เก่งกาจ มีความสามารถรอบด้าน และเป็นที่รักของประชาชนแต่ด้วยความริษยา ‘ฉินฮุ่ย’ จึงร่วมมือกับภรรยา วางแผนให้ฮ่องเต้เรียกตัว งักฮุย กลับมาจากแนวหน้า และใส่ร้ายป้ายสีจน งักฮุย ต้องโทษประหารชีวิต
เมื่อเรื่องนี้รู้ไปถึงหูของประชาชนที่รักงักฮุย ต่างก็โกรธแค้นฉินฮุ่ยกับภรรยาเป็นอย่างมาก แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ พวกเขาจึงช่วยกันทำขนมขึ้นมา โดยนำแป้งมาประกบกัน เพื่อเป็นตัวแทนของสองสามีภรรยา แล้วนำลงไปทอดในน้ำมันร้อน ๆ พร้อมกับสาปแช่งสามีภรรยาคู่นี้ไปด้วย และเรียกขนมชนิดนี้ว่า ‘ขนมอิ่วจาฮุ่ย’ ซึ่งแปลว่า ‘ฉินฮุ่ยทอดน้ำมัน’
แค่เอาลงไปทอดในน้ำมันร้อน ๆ ก็ยังไม่สาแก่ใจประชาชน พวกเขาจะคิดลูกเล่นสำคัญอีกว่า มื่อไรที่จะกินขนมชนิดนี้ จะต้องฉีกให้แยกเป็นสองส่วนก่อน เพื่อแสดงความแค้นที่มีต่อคู่สามีภรรยาที่พรากชีวิตของแม่ทัพงักฮุยไป แหม่! อะไรมันจะลึกซึ้งขนาดนี้
ความแค้นของประชาชนที่มีต่อสองสามีภรรยายังไม่หมดเพียงเท่านี้ พวกเขายังสร้างรูปปั้นของฉินฮุ่ยกับภรรยาในท่าทางคุกเข่าต่อหน้าสุสานของแม่ทัพงักฮุยอีกด้วย
ชื่อ ‘ปาท่องโก๋’ เป็นความเข้าใจผิด
‘ขนมอิ่วจาฮุ่ย’ เข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แต่ในช่วงเวลานั้น ชาวจีนแต้จิ๋วเรียกขนมดังกล่าวว่า ‘อิ่วจาก้วย’ และด้วยความบังเอิญในตอนนั้น ขนมอิ่วจาก้วย มักจะขายพร้อมกับ ‘ปาท่องโก๋’ ซึ่งเป็นขนมน้ำตาลทรายขาว คนไทยก็เลยสับสน เรียกชื่อของขนมสลับกัน โดยเข้าใจว่า ‘ปาท่องโก๋’ คือขนมแป้งที่ประกบเป็นคู่มาจนถึงปัจจุบัน
ปาท่องโก๋เป็นขนมที่ทำจากแป้งสองชิ้นประกบกัน แล้วนำไปทอดในน้ำมันร้อน ๆ คนไทยนิยมกินเป็นอาหารเช้าคู่กับเครื่องดื่ม เช่น กาแฟ, โกโก้, น้ำเต้าหู้ หรือแม้แต่โจ๊กร้อน ๆ ก็สามารถฉีกใส่ลงไปได้ สำหรับชาวจีนแต้จิ๋วแล้วจะเรียกขนมชนิดนี้ว่า ‘อิ่วจาก้วย’ ส่วนชาวจีนฮกเกี้ยน เรียกว่า ‘อิ่วเจี่ยโก้ย’ และภาษาจีนกลาง เรียกว่า ‘โหยวเที๋ยว’
ที่มา : Wikipedia สำนักพิมพ์ทองเกษม
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส