วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 กรุงเทพมหานคร จัดงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ “แผ่นดินไหวตุรกี กทม. พร้อมแค่ไหน” เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมรับมือ ป้องกัน หรือลดความเสี่ยงหากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศตุรกีและซีเรีย นับว่าเป็นภัยพิบัติที่ทำให้คนไทยพูดถึงด้วยความรู้สึกวิตกกังวลว่า หากมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีตึกสูงจำนวนมาก หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านภัยพิบัติจะมีมาตรการรองรับเหตุการณ์ลักษณะนี้อย่างไร
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นองค์กรที่มีภารกิจหลักด้านการดูแลความปลอดภัยของประชาชน และให้ความสำคัญต่อการเตรียมการรองรับภัยพิบัติในรูปแบบต่าง ๆ มาโดยตลอด โดยมีเครือข่ายการทำงานที่เป็นระบบ เข้มแข็ง ดังที่ปรากฏในการส่งเจ้าหน้าที่ร่วมทีม USAR Thailand ไปปฏิบัติการที่ประเทศตุรกี
อีกทั้งยังให้ความสำคัญในบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ที่มีเกณฑ์การบังคับด้านการออกแบบ การก่อสร้าง การดัดแปลงอาคารให้มีความมั่นคงแข็งแรง และมีระบบความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้อาคาร ซึ่งในกรุงเทพมหานครมีอาคารที่เข้าข่ายการบังคับตามกฎกระทรวง กําหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2564 จำนวน 3,028 หลัง ซึ่งได้รับการออกแบบตามเกณฑ์การบังคับของกฎหมายแล้ว และมีอาคารเก่าที่ก่อสร้างก่อนกฎหมายบังคับใช้ จำนวน 10,386 หลัง
รศ.ดร.วิศณุ ยังเปิดเผยอีกว่า ตามกฎกระทรวงกำหนดประเภทอาคารที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบ พ.ศ. 2548 ได้กำหนดให้เจ้าของอาคารที่มีอาคารเข้าข่ายเป็นอาคาร 9 ประเภท ได้แก่
- อาคารสูง (อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป)
- อาคารขนาดใหญ่พิเศษ (อาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป)
- อาคารชุมนุมคน (อาคารที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการชุมนุมคนที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป หรือชุมนุมคนได้ตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป)
- โรงมหรสพ
- โรงแรมที่มีห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป
- สถานบริการที่มีพื้นที่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป
- อาคารชุดหรืออาคารที่อยู่อาศัยรวมที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป
- โรงงานที่มีความสูงมากกว่า 1 ชั้น และมีพื้นที่ตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป
- ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย ซึ่งมีความสูงจากพื้นดินตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป หรือป้ายที่ติดตั้งบนหลังคา หรือดาดฟ้าของอาคาร หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25 ตารางเมตรขึ้นไป
ต้องส่งรายงานการตรวจสอบอาคารให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น เพื่อพิจารณาออกใบรับรองการตรวจสอบอาคารหรือสั่งให้แก้ไข แล้วแต่กรณี ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่ประชาชนสนใจ และอยากทราบความชัดเจนของการดำเนินการต่าง ๆ
รศ.ดร.วิศณุ กล่าวว่า “การจัดเสวนาครั้งนี้ มุ่งเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน และการแสดงถึงความเชี่ยวชาญของวิทยากรผู้เข้าร่วมเสวนาทุกท่านที่ได้มาร่วมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งเป็นการแสดงให้เห็นถึงมาตรการความปลอดภัยที่กำหนดไว้ เพื่อให้คำตอบแก่ประชาชนในเรื่องของการดูแลความปลอดภัย ตลอดจนเพื่อให้ประชาชนสามารถนำความรู้ไปใช้ในการปรับปรุงอาคารให้มีความพร้อมในการรับมือกับการเกิดแผ่นดินไหวในกรุงเทพมหานครอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป”
สำหรับการเสวนาในวันนี้ (22 ก.พ. 66) มี รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดำเนินการเสวนา และมีวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิในหลายภาคส่วน ได้แก่ ศาสตราจารย์นคร ภู่วโรดม อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ดร.ธนิต ใจสอาด หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง และ นายภุชพงศ์ สัญญโชติ หัวหน้าสถานีดับเพลิงลาดยาว หรือ ทีม USAR Thailand