จัสติน บีเบอร์ (Justin Bieber) คือหนึ่งในศิลปินที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ด้วยความมั่งคั่งสุทธิกว่า 9,800 ล้านบาท แต่เห็นว่าฐานะดีแบบนี้ ไม่ใช่ว่าบีเบอร์จะซื้อได้ทุกสิ่งที่เขาต้องการ เพราะว่าเฟอร์รารี (Ferrari) แบรนด์รถสปอต์ตหรู สัญชาติอิตาเลียน ดูจะไม่ค่อยอยากขายรถให้บีเบอร์เท่าไรนัก แล้วเรื่องนี้มีเหตุผลอะไรซ่อนอยู่? คลิปนี้เราจะบรีฟให้คุณฟัง!
หลายคนที่เป็นแฟนคลับของเฟอร์รารีจะต้องเคยได้ยินประโยคอันโด่งดังที่ว่า “You Do Not Choose Ferrari, Ferrari Chooses You” แปลว่า “คุณไม่ได้เลือกเฟอร์รารี เฟอร์รารีต่างหากที่เลือกคุณ” โดยวรรคทองนี้ คือการอธิบายที่สั้น ๆ แต่ชัดเจนว่าต่อให้คุณมีเงินมากแค่ไหน แต่ถ้าแบรนด์ไม่เลือกคุณแล้ว เขาก็ไม่ขายรถให้
การที่เฟอร์รารีพิถีพิถันอย่างมากในการเลือกลูกค้า นั่นก็เพราะพวกเขามองว่า รถยนต์ของเฟอร์รารีคืองานศิลปะที่ผ่านการออกแบบมาอย่างสมบูรณ์แบบ ถือเป็นยนตรกรรมชั้นสูงที่แบรนด์ทุ่มเทวิจัยและพัฒนา เป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จ ความพรั่งพร้อมสมบูรณ์ และรสนิยมชั้นเลิศ ดังนั้น ผู้ที่จะครอบครองได้ต้องมีความหลงใหลในวิถีการขับขี่ของเฟอร์รารีอย่างแท้จริงเท่านั้น
แล้วเฟอร์รารีรู้ได้อย่างไรว่า ใครเหมาะสมที่จะได้ครอบครองรถสปอร์ตหรูของพวกเขา beartai BRIEF ไปค้นหามาแล้วว่า มีกฎง่าย ๆ อยู่ 10 ข้อ ที่เฟอร์รารีใช้ในการคัดกรองลูกค้าของพวกเขา
โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ Hot Cars ระบุว่า การจะเป็นเจ้าของเฟอร์รารีสักคันนั้น คุณจะต้องเซ็นสัญญากับเฟอร์รารี ว่าจะปฏิบัติตามกฎการใช้งานอย่างเคร่งครัด โดยหนึ่งในนั้น คือการห้ามขายรถภายในปีแรกที่ซื้อ ทั้งนี้ ก็เพื่อทำให้แน่ใจว่า ลูกค้าคนนี้หลงใหลในแบรนด์เฟอร์รารีอย่างแท้จริง ซื้อเอง ขับเอง ไม่ฉาบฉวย หรือรู้สึกเบื่อก็ขายทิ้ง ซึ่งหากหากคุณละเมิดกฎข้อนี้ เฟอร์รารีมีสิทธิ์เพิกถอนความเป็นเจ้าของ และแบนคุณจากการซื้อเฟอร์รารีไปตลอดกาล
กฎข้อที่ 2 คือคุณต้องมีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยเฟอร์รารีจะขอให้คุณกรอกประวัติโดยละเอียด พร้อมฐานะความมั่งคั่ง เพื่อตรวจสอบว่าคุณคือลูกค้าที่สมบูรณ์แบบและมีรสนิยมชั้นเลิศ ซึ่งหากคุณเป็นคนดัง หรือมหาเศรษฐีระดับโลก กฎข้อนี้ก็ข้ามไปได้ง่าย ๆ
กฎข้อต่อมาคือ คุณต้องเป็นคนดัง มีชื่อเสียง มีหน้าตาในสังคมชั้นสูง และร่ำรวย ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาระดับของแบรนด์เฟอร์รารีให้ดูหรูหราอยู่เสมอ เรียกว่า แบรนด์สะท้อนภาพของลูกค้า ลูกค้าก็สะท้อนภาพของแบรนด์
กฎข้อที่ 4 เฟอร์รารีดูแลลูกค้าประหนึ่งคนในครอบครัว และนี่คือการอธิบายว่า ทำไมเฟอร์รารีถึงพิถีพิถันอย่างมากในการเลือกลูกค้า นั่นก็เพราะว่าเฟอร์รารีต้องการสร้างครอบครัวที่มีไลฟ์สไตล์หรูหรา และสร้างคอนเน็กชันชั้นเลิศในหมู่ลูกค้าของแบรนด์ นั่นหมายความว่าราคาที่ลูกค้าจ่ายเพื่อซื้อรถของเฟอร์รารีนั้น เขาจะไม่ได้แค่รถ แต่จะได้คอนเน็กชันด้วยนั่นเอง
กฎข้อที่ 5 นั่นก็คือคุณจะต้องรักและหลงใหลในแบรนด์เฟอร์รารีอย่างแท้จริง แล้วความรักนี้จะวัดได้จากอะไร? คำตอบก็คือกฎข้อที่ 6 คุณจะต้องซื้อเฟอร์รารีไม่ใช่แค่ 1 หรือ 2 คัน แต่ต้องมากกว่านั้น เพื่อแสดงความหลงใหลของคุณออกมา
นอกจากนี้ ความหลงใหลที่มีต่อเฟอร์รารีแล้วยังสะท้อนได้จากกฎข้อที่ 7 นั่นก็คือ ลูกค้าจำเป็นต้องเคารพการออกแบบรถของเฟอร์รารี เพราะแบรนด์มองว่านี่คือรถยนต์ที่เป็นงานศิลปะ และผ่านการรังสรรค์มาอย่างดีแล้ว หากคุณซื้อไปแล้วเอาไปแต่งเครื่อง หรือทำสีใหม่ เฟอร์รารีจะถือว่าเป็นการดูถูกผลงานการออกแบบของแบรนด์ ซึ่งถึงจะไม่ค่อยพอใจ แต่เฟอร์รารีก็ไม่ได้ห้ามลูกค้าในการปรับแต่งรถของพวกเขา ขอแค่มันไม่เลยเถิดมากเกินไป แบรนด์ก็พอจะรับได้ แต่ถ้าคุณละเมิดกฎอีก 2 ข้อต่อไป เตรียมบอกลาเฟอร์รารีตลอดกาลได้เลย
กฎข้อที่ 8 เฟอร์รารีไม่มีสีชมพู กฎข้อนี้ไม่ได้ตั้งขึ้นเล่น ๆ หรือเป็นข่าวลือโคมลอย เพราะ เฮอร์เบิร์ต แอปเปิลรอธ (Herbert Appleroth) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเฟอร์รารีประจำออสเตรเลียและเอเชีย เคยออกมาพูดเองว่า “สีชมพูไม่เหมาะกับปรัชญาของเฟอร์รารีอย่างสิ้นเชิง” รวมถึงการวาดลายการ์ตูนอะไรก็ตามบนตัวรถ ซึ่งถ้าใครจำได้ เฟอร์รารีเคยยื่นฟ้องดีเจแนว EDM ที่ใช้ชื่อว่า “เดดเมาส์” (Deadmau5) เนื่องจากเขานำสติกเกอร์รูปแมวมาตกแต่งเฟอร์รารีของเขานั่นเอง
กฎข้อที่ 9 อย่ายุ่งกับโลโก้ของเฟอร์รารี กฎข้อนี้คือฟางเส้นสุดท้ายของเฟอร์รารี หากคุณไปปรับแต่งมันเข้า ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เตรียมตัวขึ้นบัญชีดำได้เลย แล้วเรื่องนี้เฟอร์รารีก็ไม่ได้มาเล่น ๆ เพราะแบรนด์เคยฟ้องดีไซเนอร์ชื่อดังชาวเยอรมันอย่าง ฟิลิป ไพลน์ และชนะคดีมาแล้ว
โดยเรื่องราวก็คือ ไพลน์นำรองเท้าที่ตัวเองออกแบบไปวางไว้ใกล้ ๆ กับโลโก้บนรถเฟอร์รารีของตัวเอง แล้วโพสต์ภาพลงอินสตาแกรม ซึ่งทางเฟอร์รารีโกรธมากและขอให้เขาลบภาพดังกล่าว แต่ไพลน์ก็ไม่ได้ใส่ใจนัก จนเฟอร์รารีต้องยื่นฟ้องในข้อหาทำให้ชื่อเสียงของแบรนด์เสียหาย ซึ่งการฟ้องร้องในครั้งนี้ หลายคนก็มองว่าน่า เฟอร์รารีก็มีคอลเล็กชันเสื้อผ้าและรองเท้าของตนเอง ดังนั้น การที่ไพลน์โพสต์ภาพรองเท้าคู่กับโลโก้ของแบรนด์ อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดได้นั่นเอง
และกฎข้อสุดท้ายนั่นก็คือ ห้ามขายชิ้นส่วน หรือชำแหละเฟอร์รารีตามอำเภอใจ โดยในกรณีที่ลูกค้าไม่ต้องการรถเฟอร์รารีของพวกเราแล้ว แบรนด์ก็มีนโยบายรับซื้อสินค้าคืน เรียกได้ว่า เป็นการจากกันด้วยดี แต่ถ้าคุณเผลอไปงัดแงะ หรือเอาชิ้นส่วนไปขาย เฟอร์รารีจะจัดการใส่ชื่อของคุณในบัญชีดำทันที
ครบแล้วทั้ง 10 ข้อ สำหรับกฎในการคัดเลือกลูกค้าของเฟอร์รารี แล้วถ้าถามว่า จัสติน บีเบอร์ ทำผิดกฎข้อไหนบ้างจนเฟอร์รารีไม่ขายรถให้ คำตอบก็คือ 3 ข้อ โดยข้อแรก คือ บีเบอร์ไม่เคารพในวิถีการขับขี่ของเฟอร์รารี
โดยเจ้าตัวเอา Ferrari 458 ไปทิ้งไว้ที่โรงแรมเป็นเวลาหลายสัปดาห์ โดยหวังว่าเมื่อเขากลับไป จะได้มีรถไว้ใช้งาน เรื่องนี้สร้างความไม่พอใจให้กับเฟอร์รารี โดยแบรนด์รู้สึกว่าบีเบอร์ไม่ได้ให้ความสำคัญและคุณค่ากับเฟอร์รารีเลย เรื่องต่อมาคือ บีเบอร์นำรถไปปรับแต่ง “เกินงาม” กว่าที่เฟอร์รารีจะรับได้ ไล่ตั้งแต่การปรับแต่งตัวถัง กระโปรงรถ ไปจนถึงพวงมาลัยที่มีโลโก้ประดับอยู่ เรียกว่า การกระทำนี้คือการตบหน้าเฟอร์รารีฉาดใหญ่
แต่เรื่องที่ทำให้เฟอร์รารีต้องใส่ชื่อ จัสติน บีเบอร์ ไว้ในบัญชีดำ นั่นก็คือการนำรถไปขายภายในปีแรกที่ซื้อมา ซึ่งขัดกับกฎข้อสำคัญถึง 2 ข้อ ถือเป็นการปิดฉากความสัมพันธ์ระหว่างเฟอร์รารีและจัสติน บีเบอร์ เพราะแบรนด์บอกว่าจะไม่มีการขายรถให้เขาอีกแล้ว แม้ว่าเขาจะดังมากขนาดไหนก็ตาม
จัสติน บีเบอร์ ไม่ใช่คนเดียวที่เฟอร์รารีไม่ขายรถให้ เพราะเซเลบฯ ฝั่งสหรัฐฯ อย่าง คิม คาร์แดเชียน (Kim Kardashian) ก็ถูกห้ามซื้อเฟอร์รารีรุ่นลิมิเต็ดอีกต่อไป เนื่องจากเธอเอารถไปทำสีใหม่ทั้งคัน เพื่อให้เข้ากับสีตัวบ้านของเธอ
กฎทั้งหมดนี้แม้จะชวนขมวดคิ้วมากแค่ไหน แต่เมื่อเราอ่านสัญญาการใช้งานแล้ว หากพบว่ามีข้อไหนที่ทำไม่ได้ ก็ไม่ควรเซ็นยอมรับตั้งแต่แรก เพราะไม่ว่าจะคนหรือแบรนด์ก็ล้วนต้องการความเคารพ และการให้เกียรติด้วยกันทั้งสิ้น
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส