กลายเป็นเรื่องฮือฮาในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา เมื่อหนังสือพิมพ์ Aargauer Zeitung ในสวิตเซอร์แลนด์รายงานว่า มอนเดเลซ (Mondelez) บริษัทสัญชาติสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ช็อกโกแลตท็อบเบิลโรน (Toblerone) จำเป็นต้องลบรูปยอดเขาแมตเทอร์ฮอร์น (Matterhorn) ออกจากบรรจุภัณฑ์ เนื่องจากย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ไปยังบราติสลาวา เมืองหลวงของประเทศสโลวาเกีย
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีที่มาจากกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเครื่องหมายการค้า (Trade Mark Protection Act: TmPA) ที่ปรับปรุงใหม่ ซึ่งนิยมเรียกว่า “กฎหมายว่าด้วยความเป็นสวิส” หรือ “Swissness” ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม ปี 2017 โดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษาชื่อเสียงและค่านิยมของความพิเศษของผลิตภัณฑ์และบริการจากสวิตเซอร์แลนด์ ไล่ตั้งแต่ค่านิยมของความพิเศษ (Exclusivity), การสืบทอดจากอดีต (Tradition), ความแม่นยำ (Precision), ความหรูหรา (Luxury), เทคโนโลยีขั้นสูง (High Technology), นวัตกรรม (Innovation), คุณภาพ (Quality) และความน่าเชื่อถือ (Reliability)
โดยผลการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิส (ETH ซูริก) และมหาวิทยาลัยเซนต์ กาลเลิน (St. Gallen) พบว่า ผลิตภัณฑ์ของสวิตเซอร์แลนด์มีราคาที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์จากที่อื่น ๆ ทำให้หลายธุรกิจนำความเป็นสวิส (Swissness) ไปใช้โดยที่ไม่ได้เป็นไปตามเกณฑ์ของการระบุ หรือใช้สัญลักษณ์บ่งชี้แหล่งที่มาจากสวิตเซอร์แลนด์ ดังนั้น การมีกฎหมายที่คุ้มครองผลิตภัณฑ์ของสวิตเซอร์แลนด์จึงเป็นสิ่งจำเป็น
สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายว่าด้วยความเป็นสวิส ประกอบด้วย 1. การกำหนดเกณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถบ่งบอกความเป็นสวิส หรือการใช้สัญลักษณ์ที่สื่อถึงประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เช่น การติดป้าย Made in Switzerland, การใช้กากบาทของธงชาติสวิส หรือเทือกเขาแมตเทอร์ฮอร์น เป็นต้น
2. ให้อำนาจสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาสวิสในการตรวจสอบ และขอให้ศุลกากรสวิสทำลายผลิตภัณฑ์ที่ละเมิดการใช้กากบาทของธงชาติสวิส หรือตราแผ่นดินสวิส ซึ่งนอกจากจะเป็นป้องปรามไม่ให้มีการนำแบรนด์ “Swiss” ไปใช้โดยมิชอบแล้ว ยังช่วยให้บริษัทที่ดำเนินการตามกฎหมายสามารถแข่งขันได้ในระยะยาวอีกด้วย
ทั้งนี้ เครื่องมือที่จะช่วยในการบังคับใช้กฎหมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ คือ การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้การรับรองแหล่งกำเนิด หรือการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เช่น ชีส Gruyère และ ไวน์ Epesses ของรัฐโว สามารถขึ้นทะเบียนทางภูมิศาสตร์ได้ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้มีการนำคำเรียกหรือชื่อดังกล่าวไปใช้ได้อีก ทั้งในสวิตเซอร์แลนด์และในต่างประเทศ
ส่วนเกณฑ์ที่กำหนดว่าสินค้าและบริการสามารถอยู่ภายใต้แบรนด์ “Swiss” ได้ ประกอบด้วย (1) แหล่งที่มาของสินค้า เช่น สถานที่เพาะปลูก สถานที่สกัด หรือสถานที่ผลิต และ (2) บริการ ซึ่งจะต้องจดทะเบียนและมีสถานที่ให้บริการในสวิตเซอร์แลนด์
สำหรับบางขั้นตอนการผลิตหรือวัตถุดิบบางอย่างไม่สามารถดำเนินการหรือหาได้ในสวิตเซอร์แลนด์ จึงมีการเปิดช่องให้สามารถระบุความเป็นสวิสตามรายขั้นตอนได้ เช่น “Smoked in Switzerland หรือ “Designed in Switzerland” แต่ต้องไม่ใช้สัญลักษณ์กากบาทของธงชาติสวิสในกรณีดังกล่าว เนื่องจากผู้บริโภคอาจจะตีความรวมว่า แหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดและตลอดทุกขั้นตอนการผลิตมาจากสวิตเซอร์แลนด์
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลการศึกษาของหน่วยงานวิจัยด้านเศรษฐกิจและที่ปรึกษาอิสระจะพบว่า ในปี 2020 กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์ แต่กฎหมายดังกล่าวสามารถบังคับใช้ได้เฉพาะภายในประเทศเท่านั้น
ทางสถาบัน IPI ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าของสวิตเซอร์แลนด์ ได้จัดตั้งสมาคม Association for Swissness Enforcement โดยรวบรวมพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนสวิส 13 ราย จากสมาคมในภาคอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ เพื่อร่วมมือกันในการติดตามและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินการเกี่ยวกับการละเมิดด้วยการนำสัญลักษณ์บ่งชี้แหล่งที่มาจากสวิตเซอร์แลนด์ไปใช้โดยมิชอบในต่างประเทศด้วย
ที่มา : IPI, กระทรวงการต่างประเทศ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส