นักวิจัยชาวญี่ปุ่น กล่าวในการประชุมสุดยอดระหว่างประเทศครั้งที่ 3 เรื่องการแก้ไขจีโนมมนุษย์ ที่สถาบันฟรานซิส คริก ในลอนดอน ว่าเขาค้นพบวิธีการใหม่ที่จะทำให้หนูตัวผู้ 2 ตัวมีลูกด้วยกันได้ โดยไม่ต้องใช้หนูตัวเมียมาผสมพันธุ์ ด้วยวิธีการ “สร้างไข่จากเซลล์ผิวหนังของหนูตัวผู้” ซึ่งวิธีนี้จะมีประโยชน์อย่างมากในอนาคต ถือเป็นการปูทางไปสู่การรักษาภาวะมีบุตรยาก หรือการทำให้คู่รักที่มีเพศสภาพเป็นชายทั้งคู่ สามารถมีบุตรที่เป็นสายเลือดแท้ของตัวเองได้
ฮายาชิ คัตสึฮิโกะ จากมหาวิทยาลัยคิวชู ผู้ทดลองการสร้างไข่และสเปิร์มในห้องปฏิบัติการ กล่าวว่า “นี่เป็นกรณีแรกของการสร้างไข่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่แข็งแรงจากเซลล์เพศชาย”
ฮายาชิ อาศัยลำดับขั้นตอนที่ซับซ้อนในการเปลี่ยนเซลล์ผิวหนังของหนูตัวผู้ซึ่งมีโครโมโซม XY มาเปลี่ยนเป็นเซลล์ไข่ที่มีโครโมโซม XX
เซลล์ผิวหนังของหนูตัวผู้จะได้รับการตั้งโปรแกรมใหม่ให้อยู่ในสภาพเหมือนเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell) เพื่อสร้างเซลล์ที่เรียกว่า Induced Pluripotent Stem (iPS) ซึ่งโครโมโซม Y ของเซลล์เหล่านี้จะถูกลบออกและแทนที่ด้วยโครโมโซม X ที่ “ยืม” มาจากเซลล์อื่นเพื่อผลิตเซลล์ iPS ที่มีโครโมโซม X สองตัวที่เหมือนกัน หรือเรียกง่าย ๆ ว่า คือการสำเนาโครโมโซม X ขึ้นมา
จากนั้นเซลล์ที่ถูกแก้ไขให้มีโครโมโซม XX จะถูกนำไปฝังไว้ในรังไข่จำลอง เมื่อไข่ที่มาจากเซลล์ผิวหนังหนูตัวผู้ได้รับการปฏิสนธิกับสเปิร์มปกติ พบว่ามีตัวอ่อนหนูเกิดขึ้นประมาณ 600 ตัว
ที่น่าตื่นเต้นคือ เมื่อนำตัวอ่อนไปใส่ไว้ที่หนูอุ้มบุญตัวเมีย สุดท้ายเขาได้หนูที่คลอดออกมา 7 ตัว คิดเป็น 1% ของตัวอ่อนทั้งหมด ที่เกิดมาได้สำเร็จด้วยวิธีนี้ ซึ่งอาจจะน้อยกว่าวิธีปกติที่ใช้ไข่จากเพศหญิงมาฝังไว้ที่แม่อุ้มบุญ ซึ่งจะมีโอกาสสำเร็จอยู่ที่ 5%
ตอนนี้ หนูทั้ง 7 ตัวที่เกิดมา มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี และสามารถมีลูกได้ตามปกติ “และกลายเป็นพ่อหนูแล้ว”
ที่มา : BBC
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส