วันที่ 21 มีนาคม 2566 เครือข่ายทุกภาคส่วนกว่า 50 องค์กร ประกอบด้วย สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล, สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสื่ออิสระกว่า 34 สำนัก ร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม อาทิ สมาคมฟินเทคประเทศไทย, สมาคมเมตตาเวิร์สไทย, D-Vote, โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ยกระดับแอปพลิเคชันรายงานผลคะแนนเลือกตั้งทั่วไป ปี 2566 ด้วยเทคโนโลยี Crowdfunding เพื่อระดมทุนสนับสนุนอาสาสมัคร สำหรับรายงานผลคะแนนเลือกตั้งจาก 95,000 หน่วยแบบเรียลไทม์
นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับ 50 องค์กร ได้มีการจัดตั้ง “โครงการรายงานผลคะแนนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป 2566 (อย่างไม่เป็นทางการ)” ขึ้น เพื่อให้สื่อมวลชนสามารถทำหน้าที่รายงานผลการเลือกตั้งอย่างรวดเร็วและถูกต้อง รวมถึงช่วยให้การเลือกตั้งเกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้
ตามข้อเรียกร้องของภาคส่วนต่าง ๆ ที่ต้องการให้มีระบบการรายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้งจากหน้าคูหาเลือกตั้งอย่างรวดเร็ว หรือแบบเรียลไทม์เช่นเดิม ภายหลังที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกประกาศยกเลิกการใช้แอปพลิเคชันการรายงานคะแนนเลือกตั้ง (อย่างไม่เป็นทางการ) และเปลี่ยนมาใช้ระบบ ECT Report ซึ่งจะเริ่มทราบผลการเลือกตั้งประมาณ 23.00 น.
นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ผู้อำนวยการโครงการและกรรมการ ในฐานะที่ปรึกษาสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวจะทำงานในรูปแบบภาคีเครือข่ายผ่านการใช้เทคโนโลยี Crowdfunding และ Crowdsourcing ในการระดมอาสาสมัครให้ได้ 100,000 คน เพื่อประจำทุกหน่วยเลือกตั้งจำนวน 95,000 หน่วย ในการตรวจสอบและรายงานผลการเลือกตั้งทันที เมื่อปิดหีบเลือกตั้งในเวลา 17.00 น.
และมีการตั้งเป้าหมายให้ทราบแนวโน้มผลการนับคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการในเบื้องต้นรอบแรก ประมาณ 2 ชั่วโมงหลังปิดหีบเลือกตั้ง และภายในเวลา 19.00 น. น่าจะทราบแนวโน้มสัดส่วนคะแนนแบบ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ของแต่ละพรรค และภายในเวลาไม่เกิน 21.00 น. น่าจะทราบแนวโน้มคะแนนเสียงของผู้สมัคร ส.ส. เขต ที่มีคะแนนนําอันดับหนึ่งในทุกเขตจำนวน 400 เขต ทั้งนี้ เพื่อให้การรายงานผลคะแนนเป็นไปอย่างครอบคลุมทุกหน่วยเลือกตั้ง ได้มีการแบ่งระบบบริหารอาสาสมัครเป็น 3 ระดับ ได้แก่
- อาสาสมัครประจำหน่วยเลือกตั้ง 400 เขต จากหน่วยเลือกตั้งจำนวน 95,000 หน่วย
- อาสาสมัครหัวหน้าเขตเลือกตั้ง 400 เขต และทีมงานที่จะมีการทำงานประสานกันกับ กกต.เขต และ กกต.จังหวัด
- อาสาสมัครศูนย์ปฏิบัติการวันเลือกตั้ง (Election Day War Room) ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารงานของมหาวิทยาลัยศรีปทุม ที่มีประสบการณ์ในการรายงานผลคะแนนเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งจะมีการติดตั้งคอมพิวเตอร์จำนวน 120 เครื่อง พร้อมอาสาสมัครจำนวน 120 คน ทำหน้าที่ส่งคะแนนจากอาสาสมัครทั้ง 400 เขต ที่ผ่านการกลั่นกรองและตรวจสอบคะแนนให้ถูกต้องมากที่สุด ก่อนส่งเข้าระบบประมวลผลของส่วนกลาง ที่มีการเชื่อมโยงไปยังสำนักข่าวต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งล่าสุดมีการตอบรับแล้วจำนวน 34 สำนัก
สำหรับแอปพลิเคชัน D-Vote ในการรายงานผลคะแนนเลือกตั้งทั่วไป ปี 2566 นั้น เป็นการพัฒนาต่อเนื่องมาจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2565 โดย D-Vote ร่วมกับสมาคมฟินเทคประเทศไทยและสมาคมเมตตาเวิร์สไทย พัฒนาระบบเชื่อมต่อเครือข่ายอาสาสมัครจากหลาย ๆ องค์กรให้สามารถใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ร่วมกันได้
โดยเฉพาะการมอบหมายหน้าที่อาสาสมัครในวันเลือกตั้งระหว่างการรายงานผลคะแนนแบบเรียลไทม์ และ Final Score รวมถึงการถ่ายภาพกระดานนับคะแนน และใบรับรองผลการนับคะแนน ส.ส. 5/18 ในแต่ละหน่วยเลือกตั้ง แล้วส่งเข้ามาเก็บไว้ในระบบคลาวด์และบล็อกเชน เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ในภายหลัง
สำหรับการระดมทุน Crowdfunding นั้น ตั้งเป้าหมายเงินบริจาคจากผู้ที่ต้องการสนับสนุนไว้ประมาณ 12 ล้านบาท เพื่อนํามาใช้ในการพัฒนาระบบรายงานผลคะแนนเรียลไทม์ และระบบบริหารอาสาสมัครที่มีขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีการตั้งเป้าหมายให้ระบบดังกล่าวสามารถใช้งานได้ต่อเนื่องในการเลือกตั้งทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น หรือการเลือกตั้งซ่อมที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ส่วน Crowdsourcing จะอยู่ในรูปแบบสิ่งของกับบริการต่าง ๆ ที่ได้จากผู้สนับสนุน เพื่อใช้เป็นการตอบแทนให้กับกับผู้บริจาคและอาสาสมัครในการรายงานผลคะแนน โดยจะส่งมอบในรูปแบบของ NFT หรือ Token ให้กับผู้บริจาคเงิน ผู้สนับสนุน และอาสาสมัคร ตั้งแต่เริ่มบริจาคหรือลงทะเบียนสมัครเข้ามาเป็นอาสา โดยสามารถนำ NFT นี้ ไปแลกสินค้า, บริการ หรือส่วนลด ตามที่ผู้สนับสนุนแจ้งความจํานงเข้ามาในระยะเวลาดําเนินโครงการ หรือภายหลังการปฏิบัติภารกิจรายงานผลคะแนนเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว