ชุดเครื่องแบบนักเรียนของไทย กลายเป็นสิ่งดึงดูดใจนักท่องเที่ยวชาวจีน กระตุ้นให้เกิดความหวังที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เย็นจิตต์ อัศวปรีชาวงศ์ เจ้าของร้านศรีพรรณ ร้านขายชุดนักเรียนในกรุงเทพฯ บอกว่า “นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปีตั้งแต่ก่อตั้งมาที่เราได้รับความสนใจอย่างมาก” ตั้งแต่เดือนมีนาคมมีลูกค้าสาชาวจีน วัย 20 ปี เดินทางมาที่ร้านเกือบทุกวัน เพื่อซื้อชุดนักเรียนไปใส่ถ่ายรูปตามสถานที่ต่างๆ
ความนิยมของชุดนักเรียนไทย เริ่มเป็นกระแสหลังจาก จวี จิ้งอี (Ju Jingyi) นักแสดงและนักร้องยอดนิยมชาวจีน โพสต์ภาพการสวมชุดนักเรียนไทยของตัวเองลงในอินสตาแกรมส่วนตัวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ เลียนแบบภาพยนตร์ “สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก”
ชุดนักเรียนหญิงของร้านศรีพรรณ ขายครบชุดในราคา 600 บาท โดยชุดนักเรียนหญิง ส่วนใหญ่จะสวมเสื้อเชิ้ตสีขาว และกระโปรงสีกรมท่ายาวถึงเข่า หากเป็นระดับมัธยมต้น จะมีซองติดมาด้วย ส่วนชุดของนักเรียนชายมีเพียงเสื้อเชิ้ตสีขาวและกางเกงขาสั้น
ชุดนักเรียนไทย กำลังจะเจริญรอยตามประเทศญี่ปุ่น กลายเป็นเอกลักษณ์ที่รู้จักไปทั่วโลก เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น เพราะนักท่องเที่ยวนิยมแต่งกายด้วยชุดดังกล่าวและซื้อเป็นของที่ระลึก
ในปี พ.ศ. 2565 รัฐบาลไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อกำกับดูแลการส่งเสริมวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันที่กว้างขึ้นในการกระตุ้น Soft Power ของประเทศ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คณะกรรมการได้ริเริ่มโครงการหลายอย่าง รวมถึงการจัดกรุ๊ปทัวร์ทดลองดึงชาวญี่ปุ่นที่ชื่นชอบคู่จิ้นชื่อดังของซีรีส์วาย หรือ Boy’s Love (BL) สัญชาติไทย มาท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ในซีรีส์สร้างกระแสความนิยมต่อสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศ
นักท่องเที่ยวจีน คิดเป็นเกือบ 30% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยก่อนเกิดโรคระบาด ถือเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดหากเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่น ๆ และการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทย คาดว่าจะขึ้นอยู่กับจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามา ซึ่งเน้นย้ำถึงมูลค่าที่เป็นไปได้ของเทรนด์ชุดนักเรียนแบบใหม่
ที่มา : nikkei
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส