ช่วงนี้อากาศในไทยก็ร้อน แต่ที่ร้อนผ่าวยิ่งกว่าก็คือ ‘ค่าไฟ’ เรียกว่าบิลเดือนนี้ของแทบทุกบ้านพุ่งสูงขึ้นมาจนน่าตกใจ และด้วยประการนี้แหละ คนเลยมองหาวิธีประหยัดพลังงานแบบใหม่ ๆ กันมากขึ้น และหนึ่งในวิธีที่คนกำลังให้ความสนใจอยู่ก็คือการใช้ ‘โซลาร์เซลล์’ ซึ่งประหยัดค่าใช้จ่ายได้จริงแบบเห็นผลทันตากันเลยทีเดียว
beartai BRIEF จะพาไปรู้จักกับชายผู้ค้นพบหลักการสร้างโซลาร์เซลล์ได้เป็นคนแรกของโลก นับเป็นรากฐานให้คนรุ่นต่อไปสามารถประดิษฐ์โซลาร์เซลล์ขึ้นมาใช้จริงได้สำเร็จอย่างปัจจุบัน และเขาคนนั้นคือ เอ็ดมันด์ แบ็คเคอเรล (Edmond Becquerel) นั่นเอง
อเล็กซ็องด์-เอ็ดมันด์ แบ็คเคอเรล (Alexandre-Edmond Becquerel) เกิดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 1820 เขาเป็นนักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศส ผู้ศึกษาเรื่องสเปกตรัมของดวงอาทิตย์ แม่เหล็ก ไฟฟ้าและทัศนศาสตร์ เป็นที่รู้จักจากการค้นพบปรากฏการณ์โฟโตโวลตาอิก (Photovoltaic) ซึ่งเป็นรากฐานการทำงานของแผงโซลาร์เซลล์
ณ ช่วงเวลาที่เขาค้นพบปรากฏการณ์โฟโตโวลตาอิก ตอนนั้นเป็นปี 1839 นั่นแปลว่าเขาเจอนวัตกรรมเปลี่ยนโลกได้ตั้งแต่ยังอายุเพียงแค่ 19 ปีเท่านั้น เรียกว่าฉลาดเป็นกรดทีเดียวล่ะ
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสายเลือดของเขาอย่างคุณพ่อนามว่า อองตวน ซีซาร์ แบ็คเคอเรล (Antoine César Becquerel) ที่ก็เป็นนักฟิสิกส์ผู้เก่งกาจเหมือนกัน ต่อมาก็สืบเชื้อสายมาให้ลูกอย่าง อ็องรี แบ็คเคอเรล (Henri Becquerel) ที่ได้รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ จากการค้นพบกัมมันตภาพรังสีอีกด้วย เรียกว่าเป็นความอัจฉริยะที่ส่งต่อกันมารุ่นต่อรุ่นอย่างแท้จริง
เอ็ดมันด์ แบ็คเคอเรล เกิดในปารีสและกลายเป็นทั้งลูกศิษย์ ผู้ช่วยและผู้สืบทอดต่อจากบิดาของเขาที่ทำงานให้กับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติ (Muséum national d’Histoire naturelle) นอกจากนี้ ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ที่สถาบันปฐพีศาสตร์ในเมืองแวร์ซาย (Agronomic Institute at Versailles) และได้รับตำแหน่งประธานสาขาฟิสิกส์ที่สถาบันศิลปะและหัตถกรรมแห่งชาติของฝรั่งเศส (Conservatoire des Arts et Métiers) ด้วย
เมื่อปี 1839 ขณะเขาอายุได้ 19 ปี แบ็คเคอเรลได้ทำการทดลองในห้องทดลองของพ่อของเขา และได้สร้างเซลล์สุริยะเซลล์แรกของโลกขึ้นมา โดยในการทดลองนี้ เขาผสมซิลเวอร์คลอไรด์ให้เคลือบกับอิเล็กโทรดแพลทินัม เมื่ออิเล็กโทรดสว่างขึ้น แรงดันและกระแสไฟจะถูกสร้างขึ้นมา จนต่อมา มีการเรียกปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า ‘แบ็คเคอเรล เอฟเฟกต์ (Becquerel effect)’ ที่ตั้งตามชื่อของผู้ค้นพบมันนั่นเอง
นี่ถือเป็นก้าวแรกในการค้นพบหลักการทำโซลาร์เซลล์ จนต่อมาในปี 1954 ถึงจะมีการสร้างโซลาร์เซลล์ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง แต่ช่วงเวลานั้น แผงโซลาร์เซลล์มีประสิทธิภาพการทำงานเพียงแค่ 6% เท่านั้นและยังไม่ถูกใช้ในครัวเรือนแบบกว้างขวางด้วย
จนเมื่อเวลาผ่านไป เทคโนโลยีพัฒนาขึ้น ผู้คนเริ่มให้ความสนใจกันอย่างกว้างขวาง โซลาร์เซลล์ก็ถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ เช่นกัน จนปัจจุบัน โซลาร์เซลล์ ถือเป็นสิ่งที่เข้ามาช่วยเหลือมนุษยชาติได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะในยุคที่ผู้คนต่างให้ความสนใจกับการใช้พลังงานหมุนเวียน เอาล่ะ! ใครอยากประหยัดไฟบ้าง ลองไปหามาใช้กันสักแผง เพราะโซลาร์เซลล์เนี่ยแหละคู่ควรกับประโยค ’ของมันต้องมี’ ที่สุดในช่วงเวลานี้แล้ว !
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส