เคยสงสัยไหมว่า ทำไมกว่าจะขึ้นเครื่องบินได้แต่ละครั้ง ต้องถูกตรวจนู่นตรวจนี่เต็มไปหมด ทั้งการสแกนกระเป๋า ค้นตัว หรือแม้แต่การเดินผ่านเครื่องวอล์กทรูเพื่อตรวจหาอาวุธ ซึ่งบางครั้งอาจถูกตรวจหลายครั้ง หากพื้นที่ที่เราอยู่เป็นพื้นที่ความเสี่ยงสูง นั่นเป็นเพราะว่าทุกพื้นที่ในเขตสนามบินหรือแม้แต่บนเครื่องบิน ถือเป็นเขตความปลอดภัยสูง ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
ดังนั้นการกระทำหรือคำพูดต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือมีความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินจึงต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะคำพูดที่บางครั้ง เราอาจไม่ทันระวังหรือแค่คึกคะนองพูดเล่นหรือล้อเล่นกับเพื่อนก็อาจกลายเป็นการทำผิดกฎหมายแบบไม่รู้ตัว ไม่เว้นแม้แต่การเลี่ยงบาลี พูดคำอื่น ที่มีความหมายคล้ายกัน หรือสื่อถึงเหตุการณ์ร้าย ๆ เพราะนอกจากจะทำให้เครื่องบินล่าช้าแล้ว อาจทำให้ถูกสอบสวนและดำเนินคดีตามกฎหมาย หรือบางครั้ง บุคคลนั้นอาจถูกสั่งห้ามไม่ให้ขึ้นเครื่องบินเที่ยวนั้นก็ได้ แล้วคำพูดแบบไหนบ้างที่ไม่ควรพูด หรือนำมาใช้ในเขตสนามบิน เราจะบรีฟให้ฟัง
ระเบิด (Bomb, Explosive)
ไม่ว่าจะเป็นการพูดคำว่า ระเบิด, มีระเบิด หรือแม้แต่การหยอกล้อเล่นกับเพื่อนว่า “เปิดกระเป๋าระวังเจอระเบิดนะ” หรือการพูดลอย ๆ ถึงการเบิดสนามบิน, จะระเบิดเครื่องบิน คำพูดเหล่านี้อาจทำให้คุณต้องเปลี่ยนที่นอนไปอยู่ในมุ้งสายบัวก็ได้ เพราะในสถานการณ์นั้นแม้จะไม่ได้มีระเบิดจริง ๆ แต่เพื่อความปลอดภัยและความสบายใจของผู้โดยสารคนอื่น เครื่องบินเที่ยวนั้นอาจต้องลงจอดทันที และคุณจะถูกนำตัวไปสอบสวนอย่างหนัก
การก่อการร้าย (Terrorist Attack)
จากเหตุการณ์ 9/11 ที่มีการก่อการร้ายบนเครื่องบิน จนเกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นวงกว้าง ทั้งที่อยู่บนอากาศและภาคพื้น จนกลายเป็นเรื่องสะเทือนใจระดับโลกที่ทำให้ผู้คนต่างหวาดระแวงว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก ทำให้มีการยกระดับความปลอดภัยที่มากขึ้น ทั้งการตรวจตราบริเวณภาคพื้น การการตรวจเข้มก่อนที่เราจะผ่านเกทต่าง ๆ ไปจนถึงเครื่องบิน
จี้, ปล้นเครื่องบิน (Hijack)
หยุดนะ นี่คือการปล้น!! (อ๊า… ไม่ต้องร้องต่อ) ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงการก่อการร้าย จี้ หรือปล้น เครื่องบิน โดยเฉพาะคำว่า ไฮแจ็ค (Hijack) ที่ถือเป็นคำเซนซิทีฟมาก ๆ สำหรับการบิน และอาจมีพลเมืองดีที่ได้ยินพร้อมจะตะครุบตัวคุณ ให้เจ็บตัวได้ฟรี ๆ เช่นกัน
ถึงไม่ห้ามก็ไม่ควรพูด
นอกจากคำต้องห้าม ทั้ง 3 คำ ที่อยู่ด้านบนแล้ว ยังมีคำพูดอื่น ๆ การเขียนข้อความ หรือการกระทำอื่น ที่เจ้าหน้าที่พิจารณาว่า คุกคาม ข่มขู่หรือเป็นภัย ซึ่งก็ไม่ควรพูดหรือนำมาใช้เช่นกัน
- พูดว่า “ตรวจได้แต่ ระวังเชื้ออีโบล่า”
- ตะโกนว่า “เครื่องบินลำนี้กำลังจะตก”
- เขียนว่า “ระเบิด” ไว้ที่กระจก
- โยนกระเป๋าหรือสิ่งของภายในตัวอาคาร ใส่เจ้าหน้าที่ กลุ่มผู้โดยสาร หรือผู้ใช้บริการแล้ววิ่งหนี
โดนจับได้ง่าย ๆ ไม่มีข้อโต้แย้ง
แม้จะพูดเล่น ๆ หรือเป็นการแจ้งเหตุโดยไม่มีมูล จนเป็นเหตุให้ผู้คนที่อยู่ในท่าอากาศยานหรือในอากาศยานระหว่างการบิน ตื่นตกใจ ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ยิ่งถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่ออากาศยานในระหว่างการบิน อาจต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 5 – 15 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 200,000 – 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยที่เราไม่อาจโต้แย้งอะไรได้ เพราะถือเป็นความผิดตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2558
สรุปแล้ว การระมัดระวังคำพูด หรือการรู้จักกาลเทศะ เมื่ออยู่ในที่สาธารณะกับบุคคลส่วนรวม ถือเป็นมารยาทพื้นฐาน เมื่อมีใครคนใดหนึ่งคนไม่ปฏิบัติตามกฎย่อมสร้างความเดือดร้อนสู่สังคมวงกว้าง โดยเฉพาะภาพลักษณ์และความมั่นคง เพื่อป้องกันเหตุบานปลายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ที่มา : AOT
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส