Helicopter Money หรือ นโยบายโปรยเงิน คือแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังอย่าง มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) ที่ถูกใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะวิกฤต หรือเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะจุด ที่รัฐบาลไทยหลายชุดนำมาประยุกต์ใช้ในต่างกรรมต่างวาระกันไป
กว่า 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยคุ้นชินกับนโยบายประชานิยมผ่านมาตรการภาษี มาตรการทางการเงิน รวมถึงนโยบายเงินโอนหรือเงินให้เปล่า… ลองคิดดูสิว่าคุณเคยได้รับสิทธิ์เหล่านี้กันหรือไม่ ?
ปี 2551 : เช็คช่วยชาติ
เช็คช่วยชาติ คนละ 2,000 บาท รัฐบาลจะมอบให้ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ใช้งบประมาณรวม 19,400 ล้านบาท เนื่องจากขณะนั้นเศรษฐกิจกิจไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินสหรัฐฯ หรือ Hamburg Crisis ที่ลุกลามไปสู่เป็นวิกฤตการเงินโลก
ปี 2554-2555 : รถคันแรก
รถคันแรก รัฐบาลคืนภาษีสูงสุด 100,000 บาท ให้กับผู้ซื้อรถยนต์คันแรกในชีวิต เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจจากสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ ทำให้ตลาดรถยนต์เติบโตคึกคัก แต่เกิดผลข้างเคียงต่อหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยนโยบายดังกล่าวมีรถยนต์เข้าร่วมโครงการกว่า 1.25 ล้านคัน และรัฐมีภาษีที่ต้องจ่ายคืนทั้งหมด 91,000 ล้านบาท
ปี 2562 : ชิมช้อปใช้
ชิมช้อปใช้ คือ จุดเริ่มต้นนโยบายเงินโอนบนระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ หรือ G-Wallet ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภาคประชาชน จนสร้างปรากฎการณ์เฝ้าหน้าจอรอรับสิทธิ์ของคนไทยทั้งประเทศ และมีผู้ได้รับสิทธิกว่า 15 ล้านคน ใช้วงเงินงบประมาณรวม 21,000 ล้านบาท
ปี 2563-2565 : แพ็กเกจเยียวยาโควิด-19
เรียกว่าเป็นการรวมแพ็กเกจเยียวยาโควิด-19 แบบคอมโบเซ็ต ผ่านมาตรการเงินโอนบนแอปเป๋าตังและแอปถุงเงิน เริ่มต้นที่ เราไม่ทิ้งกัน เงินชดเชยกลุ่มอาชีพอิสระและเกษตรกรกว่า 30 ล้านคน คนละ 15,000 บาท ในช่วงเวลา 3 เดือน และมาตรการเก็บตกเพิ่มเติม รวมงบประมาณทั้งสิ้น 413,839 ล้านบาท
ถัดมาคือ เราชนะ เงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย จำนวน 31.1 ล้านคน คนละไม่เกิน 7,000 บาท และ คนละครึ่ง นโยบายลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และเสริมสภาพคล่องให้ร้านค้ารายย่อย โดยรัฐและประชาชนออกค่าใช้จ่ายคนละครึ่งของราคาสินค้า รวมทั้งหมด 5 เฟส ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 192,500 ล้านบาท
และปิดท้ายที่ เราเที่ยวด้วยกัน นโยบายเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว โดยรัฐออกค่าที่พักให้ 60% ของราคาเต็ม และนักท่องเที่ยวจ่ายในส่วน 40% ที่เหลือ รวมทั้งหมด 5 เฟส ใช้วงเงินรวม 7,236 ล้านบาท
สำหรับการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมาถึงในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้ หลายพรรคการเมืองชูนโยบายประชานิยมเป็นจุดขายกันอีกครั้ง แม้เศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤต และกำลังฟื้นตัวจากโควิด 19 แล้วนโยบายที่หาเสียงไว้ จะถูกนำมาใช้จริง หรือแม้แต่ทำได้จริงหรือไม่ ? เราคงต้องติดตามกันต่อไป…
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, CFI
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส