การเลือกตั้ง ถือเป็นหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ได้แสดงเจตจำนงของตนเองในการเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่บริหารประเทศ ซึ่งเรียกว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

การเลือกตั้งครั้งแรก

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี 2475 ประเทศไทย (ขณะนั้นใช้ชื่อว่า สยาม) แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 70 จังหวัด และตามรัฐธรรมนูญ 2475 สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท โดยมีจำนวนเท่า ๆ กัน คือ สมาชิกประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้ง และสมาชิกประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้ง

ในขณะนั้นรัฐธรรมนูญกำหนดให้แต่ละจังหวัดจะมี ส.ส. ได้ 1 คนต่อราษฎร 200,000 คน ทำให้มี ส.ส. ประเภทที่ 1 จำนวน 78 คน และ ส.ส. ประเภทที่ 2 ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งอีก 78 คน รวมเป็น 156 คน ซึ่งจากการคำนวณดังกล่าว ทำให้ส่วนใหญ่แล้วจะสามารถเลือก ส.ส. ได้จังหวัดละ 1 คน และมีบางจังหวัดที่มี ส.ส. มากกว่า 1 คน คือ เชียงใหม่, ร้อยเอ็ด, มหาสารคาม และนครราชสีมา มี ส.ส. จำนวน 2 คน ในขณะที่จังหวัดพระนครและอุบลราชธานี มี ส.ส. มากที่สุด คือ 3 คน

สำหรับการเลือกตั้งครั้งแรกของไทย ถูกจัดขึ้นในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2476 และเป็นการเลือกตั้ง ส.ส. ประเภทที่ 1 โดยใช้วิธีการเลือกตั้งแบบทางอ้อม คือ ประชาชนจะไปใช้สิทธิ์เลือกผู้แทนตำบลก่อน จากนั้นผู้แทนตำบลที่ได้รับเลือกนั้น จะไปทำการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนประชาชนอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้นับเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

การเลือกตั้งครั้งแรกของไทย มีผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมด 4,278,231 คน และมีผู้ออกไปใช้สิทธิ์ทั้งหมด 1,773,532 คน คิดเป็น 41.45% โดยจังหวัดที่มีผู้ไปใช้สิทธิ์มากที่สุด คือ จังหวัดเพชรบุรี คิดเป็น 78.82% และจังหวัดที่มีผู้ออกไปใช้สิทธิ์น้อยที่สุด คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน คิดเป็น 17.71%

พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)
พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)

ทั้งนี้ ภายหลังการเลือกตั้งดังกล่าวได้มีการจัดตั้งคณะรัฐบาลขึ้นมาใหม่ โดยเสียงของ ส.ส. ส่วนใหญ่ได้เลือก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 อีกด้วย

ที่มา : พิพิธภัณฑ์รัฐสภา

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส