การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ถือเป็นการแสดงเจตจำนงของประชาชนในการเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่บริหารประเทศ แต่หากเจตจำนงของประชาชนถูกบิดเบือนจะเป็นอย่างไร? บทความนี้ beartai BRIEF พาทุกคนย้อนดูเหตุการณ์ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 การเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 7 ของประเทศไทย ซึ่งขึ้นชื่อว่า สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 ผลปรากฎว่าชัยชนะตกเป็นของพรรคเสรีมนังคศิลา ซึ่งนำโดย จอมพลแปลก พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งสามารถกวาดที่นั่ง ส.ส. ในสภาไปได้ 86 ที่นั่ง จากทั้งหมด 160 ที่นั่ง โดยมี ส.ส. ที่มาจากการแต่งตั้งจำนวน 123 คน ซึ่งมาจากรัฐสภาชุดที่แล้ว
สำหรับการเลือกตั้งในครั้งนี้ มีผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมด 9,859,039 คน และมีผู้ออกไปใช้สิทธิ์ทั้งหมด 5,668,566 คน คิดเป็น 57.50% โดยจังหวัดที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์มากที่สุด คือ จังหวัดสระบุรี คิดเป็น 93.30% และจังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิ์น้อยที่สุด คือ จังหวัดสุพรรณบุรี คิดเป็น 42.06%
ความไม่โปร่งใสหลายประการ
ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์รัฐสภา ระบุว่า การเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 เป็นไปโดยไม่สุจริตโปร่งใสหลายประการ เช่น ช่วงก่อนการเลือกตั้งได้มีการข่มขู่สารพัดจากบรรดานักเลงและอันธพาล ซึ่งรัฐบาลเรียกว่า ‘ผู้กว้างขวาง’ โดยมีการบังคับให้ชาวบ้านเลือกผู้สมัครจากพรรครัฐบาล (พรรคเสรีมนังคศิลา ซึ่งนำโดยจอมพลแปลก), มีการทำร้ายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง โดยการแจกใบปลิวโจมตีพรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงการเพิ่มชื่อในบัญชีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอย่างผิดปกติ และติดรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งล่าช้าหรือไม่ติดเลย
และในวันเลือกตั้งนั้นเอง มีการใช้ ‘พลร่ม’ ซึ่งเป็นกลวิธีให้คนเวียนเทียนกันลงคะแนนหลายรอบ และเมื่อปิดหีบแล้วมีการเอาบัตรลงคะแนนที่เตรียมไว้ใส่เข้าไปในหีบเพิ่มเติม เรียกว่า ‘ไพ่ไฟ’ รวมถึงการแอบเปลี่ยนหีบเลือกตั้งในที่ลับตาผู้คน นอกจากนี้ การดำเนินการในหน่วยเลือกตั้งก็เป็นไปอย่างผิดสังเกตหลายจุด เช่น เวลาในการเปิด – ปิดหีบของหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยที่ไม่เท่ากัน และการนับคะแนนบัตรเสียที่ไม่เป็นมาตรฐาน
การเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 ใช้เวลานับคะแนนเลือกตั้งนานถึง 7 วัน 7 คืน ซึ่งเป็นที่ผิดสังเกตอย่างมาก แต่เหตุการณ์หนึ่งที่เป็นที่จดจำ คือ หน่วยเลือกตั้งสวนลุมพินีเกิดเหตุไฟดับขณะกำลังนับคะแนน พอไฟมาแล้วนับคะแนนต่อ ปรากฏว่าคะแนนเสียงที่นับเสร็จแล้ว กลับมีมากกว่าจำนวนผู้ที่มาลงทะเบียนเลือกตั้งในหน่วยนั้น
ทั้งนี้ หลักฐานที่ชัดเจนที่สุดว่า การเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 7 นี้ มีความไม่สุจริตเกิดขึ้น คือ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งนี้สูงกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนในปี 2495 ถึง 57.50% โดยสถิติครั้งก่อนในปี 2476 คือ 41.50% ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นเครื่องบ่งชี้ว่ามีการโกงเลือกตั้งอย่างหนักเกิดขึ้น
ความโปร่งใสหลายประการที่เกิดขึ้น ทำให้นิสิต นักศึกษา และประชาชนไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง มีการลดธงชาติครึ่งเสา เพื่อไว้อาลัยการเลือกตั้งในครั้งนี้ และมีการเดินขบวนประท้วงจากสนามหลวงไปยังทำเนียบรัฐบาล โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ จอมพลแปลกได้ชี้แจงการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งต่อมาได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
ณ จุดหนึ่ง ขบวนของผู้ชุมนุมได้มาถึงสะพานมัฆวานรังสรรค์ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่ง จอมพลแปลกได้แต่งตั้งให้เป็นผู้ควบคุมดูแลสถานการณ์ กลับนำพาขบวนของผู้ชุมนุมเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเจรจากับจอมพลแปลกโดยตรง ทำให้จอมพลแปลกยอมรับในที่สุดว่าผลการเลือกตั้งนั้นไม่บริสุทธิ์จริง และจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เหตุการณ์ชุมนุมจึงยุติลง
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งใหม่ไม่ได้มีการจัดขึ้น เนื่องจากเกิดการรัฐประหารโดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500
ที่มา : พิพิธภัณฑ์รัฐสภา, วิกิพีเดีย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส