สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้วิเคราะห์เอกสารที่แต่ละพรรคการเมืองชี้แจงนโยบายหาเสียงต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยพบว่า 4 พรรคการเมืองมีนโยบายที่ต้องใช้งบประมาณมากถึง 1 ล้านล้านบาท ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย (1.9 ล้านล้านบาท), พรรคเพื่อไทย (1.8 ล้านล้านบาท), พรรคก้าวไกล (1.3 ล้านล้านบาท) และพรรคพลังประชารัฐ (1.0 ล้านล้านบาท)
จากการวิเคราะห์ของ ทีดีอาร์ไอ พบว่านโยบายของเกือบทุกพรรคน่าจะทำให้มีการใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นจนขาดดุลงบประมาณอย่างมากในช่วง 4 ปีหน้า ซึ่งนอกจากจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว ยังอาจทำให้เศรษฐกิจขาดเสถียรภาพ เนื่องจากขยายตัวในระดับที่ร้อนแรงเกินไปภายใต้ความเสี่ยงของเงินเฟ้อ ซึ่งหากมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของธุรกิจ ซ้ำเติมภาวะหนี้ครัวเรือน และทำให้กลุ่มเปราะบางที่พรรคการเมืองต้องการช่วยเหลือกลับได้รับผลกระทบในด้านลบแทน
นโยบาย 4 พรรค ใช้งบหลัก 1 ล้านล้านบาท
จากการวิเคราะห์เอกสารที่แต่ละพรรคการเมืองชี้แจงนโยบายหาเสียงต่อ กกต. ทาง ทีดีอาร์ไอ จึงได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้งบประมาณไว้ใน 5 ประเด็น ได้แก่
1. บางพรรคการเมืองหาเสียงโดยใช้นโยบายที่ไม่ได้ชี้แจงในรายงานที่นำเสนอต่อ กกต. ทั้งที่เป็นนโยบายที่สร้างภาระทางคลังสูง จึงเป็นการให้ข้อมูลต่อประชาชนอย่างไม่ครบถ้วน
2. หลายพรรคการเมืองอ้างที่มาแหล่งของเงินว่ามาจากการจัดสรรงบประมาณที่มีอยู่ในปัจจุบันใหม่ โดยไม่ให้รายละเอียดว่าจะตัดลดส่วนใด และจะมีโอกาสได้เม็ดเงินจากการตัดลดมาใช้ในการดำเนินนโยบายที่เสนอมากเพียงใด ทำให้ประชาชนไม่เห็นผลกระทบอย่างครบถ้วน เช่นเดียวกับบางพรรคการเมืองที่ระบุว่าจะมีรายได้มาจากภาษีเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้ระบุว่าจะมาจากภาษีใด และมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับรายได้ตามเป้าหมายเพียงใด
3. ทุกพรรคการเมืองระบุแหล่งที่มาของเงินรายนโยบายโดยไม่ได้แสดงภาพรวม ซึ่งทำให้ไม่เห็นภาพรวมของความเพียงพอของแหล่งเงิน โดยบางพรรคอาจระบุแหล่งที่มาของเงินที่ใช้ในแต่ละนโยบายในลักษณะนับซ้ำ ทำให้เข้าใจผิดว่ามีเงินเพียงพอในการดำเนินนโยบาย
4. บางพรรคการเมืองระบุว่าจะใช้เงินนอกงบประมาณ เช่น เงินกองทุนต่าง ๆ หรืองดการเก็บภาษี เสมือนว่าเงินนอกงบประมาณ หรือการงดการเก็บภาษีนั้นไม่ได้สร้างภาระทางการคลัง เช่นเดียวกับการใช้เงินของรัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงินของภาครัฐ ซึ่งจะก่อให้เกิดภาระทางการคลัง เมื่อหน่วยงานเหล่านี้ประสบปัญหา
5. พรรคการเมืองส่วนใหญ่ระบุประโยชน์ของนโยบาย แต่ในส่วนของผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบายกลับระบุไว้ค่อนข้างน้อยหรือไม่ระบุเลย เช่น หลายพรรคระบุว่านโยบายของตนไม่มีความเสี่ยงเลย ทั้งที่ต้องใช้เงินมาก ต้องแก้ไขกฎหมาย และมีรายละเอียดในทางปฏิบัติมาก ในขณะที่หลายพรรคก็ไม่ระบุกลุ่มผู้รับประโยชน์ที่ชัดเจน
นอกจากนี้ แทบไม่มีพรรคการเมืองใดที่วิเคราะห์ความคุ้มค่าของนโยบายที่เสนอ ว่าดีกว่านโยบายทางเลือกอื่น ๆ โดยเฉพาะนโยบายที่ใช้ในปัจจุบันอย่างไร ทั้งนี้ ทีดีอาร์ไอ ยังได้วิพากษ์นโยบายของ 4 พรรคการเมืองที่ใช้งบประมาณหลัก 1 ล้านล้านบาทอีกด้วย (หน้าถัดไป)
พรรคภูมิใจไทย : รายงานนโยบายไม่ครบ
จากการวิเคราะห์ของ ทีดีอาร์ไอ พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคที่นโยบายหาเสียงใช้งบประมาณสูงที่สุด คือ 1.9 ล้านล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นเงินสำหรับลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ซึ่งบางส่วนน่าจะเป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP)
นอกจากนี้ ยังมีการใช้เงินนอกงบประมาณในระดับที่สูงถึงปีละ 700,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินนโยบายเงินกู้ฉุกเฉินแก่ประชาชน โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันอีกด้วย
ทั้งนี้ นโยบายที่พรรคภูมิใจไทยชี้แจงต่อ กกต. ไม่ใช่นโยบายที่พรรคใช้หาเสียงทั้งหมด แต่ยังมีนโยบายอื่น ๆ เช่น นโยบายพักหนี้ 3 ปี, นโยบายประกันความเสียหายเกษตรกร, นโยบายฉายรังสีรักษามะเร็งฟรี, นโยบายลดค่ารถเมล์, นโยบายฟรีโซลาร์เซลล์ เป็นต้น
พรรคเพื่อไทย : มองการขยายตัวเศรษฐกิจดีเกินจริง
นโยบายแจกเงินดิจิทัล คือ นโยบายที่ ทีดีอาร์ไอ ให้ความสำคัญ เนื่องจากมีการระบุที่มาของเงินจากรายรับจากภาษีของรัฐบาล, การจัดเก็บภาษีอื่น ๆ, การบริหารจัดการงบประมาณ และการบริหารงบประมาณสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน ซึ่งจะมีผลกระทบต่องบค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยไม่ได้ระบุว่าสวัสดิการใดที่จะถูกปรับลด เนื่องจากซ้ำซ้อนกับการแจกเงินดิจิทัล
44 จาก 70 นโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ระบุว่าที่มาของเงินมาจากการบริหารงบประมาณแผ่นดินปกติ ซึ่ง ทีดีอาร์ไอ มองว่าไม่น่าจะสามารถทำได้ โดยไม่ได้ใช้เงินเพิ่มเติมจำนวนมาก เนื่องจากใช้เงินมากกว่ากรอบงบประมาณปกติ
นอกจากนี้ รายได้รัฐและการจัดเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจยังคงมีความเสี่ยงสูงมาก เนื่องจากไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจจะก่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างไร รวมถึงความเสี่ยงในการจัดเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้าหมาย
พรรคก้าวไกล : จัดทำเอกสารดี แต่นโยบายมีความเสี่ยงที่จะถูกต่อต้าน
จากการวิเคราะห์ของ ทีดีอาร์ไอ เอกสารที่พรรคก้าวไกลนำเสนอต่อ กกต. มีการแจกแจงต้นทุนและที่มาของแหล่งเงินชัดเจนกว่าพรรคอื่น ๆ ภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายปี 2570 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายและแสดงภาระการคลังสูงสุดที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงไม่มีการใช้เงินนอกงบประมาณ ทำให้ลดความเสี่ยงทางการคลังลง
โดยนโยบายที่จะใช้เงินมากที่สุด คือ นโยบายสวัสดิการสูงอายุ ซึ่งจะใช้เงิน 500,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนนโยบายที่ใช้เงินรองลงมา คือ นโยบายจังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งจะใช้งบ 200,000 ล้านบาท โดยระบุว่ามาจากการเกลี่ยงบประมาณของกระทรวงต่าง ๆ มาให้จังหวัด
อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลไม่ได้ให้รายละเอียดที่ชัดเจนถึงความเสี่ยงที่อาจจัดเก็บรายได้เพิ่มไม่ได้ตามเป้าหมาย นอกจากนี้ นโยบายปฏิรูปหน่วยงานส่วนกลางและกองทัพ เพื่อลดภาระงบประมาณและนำมาบริหารนโยบายอื่น ๆ นั้น อาจถูกต่อต้านอย่างรุนแรงอีกด้วย
พรรคพลังประชารัฐ : ใช้เงินนอกงบประมาณเสมือนไม่มีต้นทุน
เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกล นโยบายที่จะใช้เงินมากที่สุดของพรรคพลังประชารัฐ คือ นโยบายสวัสดิการสูงอายุ ซึ่งใช้เงิน 500,000 ล้านบาทต่อปี โดย ทีดีอาร์ไอ มองว่าพรรคพลังประชารัฐน่าจะใช้เงินมากกว่าของพรรคก้าวไกล เมื่อเปรียบเทียบในปีเดียวกัน เนื่องจากให้สวัสดิการผู้สูงอายุที่มีอายุเกินกว่า 70 ปีขึ้นไป ซึ่งมากกว่าที่พรรคก้าวไกลเสนอ
สำหรับที่มาของเงินในการดำเนินนโยบายนั้น พรรคพลังประชารัฐระบุว่าจะมาจากงบประมาณประจำปีปกติ รวมถึงรายได้รัฐและการจัดเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งพรรคพลังประชารัฐไม่ได้ให้รายละเอียดในส่วนนี้ไว้ ทำให้ไม่มีความชัดเจน
สำหรับนโยบายน้ำมันประชาชน ซึ่งอ้างว่าจะไม่ใช้งบประมาณของรัฐ แต่จะใช้การลดราคาน้ำมัน โดยงดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต, ภาษีท้องถิ่น รวมถึงกองทุนน้ำมันฯ เป็นเวลาไม่เกิน 1 ปีนั้น ทีดีอาร์ไอ มองว่าเป็นการให้ข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด เนื่องจากนโยบายเหล่านี้จะมีผลต่อภาระการคลังของรัฐอย่างแน่นอนในรูปของการขาดดุลการคลัง และการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ
ข้อเสนอแนะต่อ กกต. และพรรคการเมือง
แม้ว่า กกต. จะไม่มีอำนาจและไม่สมควรเป็นผู้ตัดสินว่านโยบายต่าง ๆ ที่พรรคการเมืองหาเสียงสามารถทำได้จริงหรือไม่ ทาง ทีดีอาร์ไอ จึงเสนอแนะว่า ด้วยอำนาจและหน้าที่ในการกำกับให้พรรคการเมืองให้ข้อมูลประชาชนอย่างครบถ้วน ทาง กกต. ควรตรวจสอบเบื้องต้นได้ว่า มีพรรคการเมืองที่หาเสียงโดยใช้นโยบายที่ไม่ปรากฏในเอกสารที่นำส่ง กกต. หรือไม่
ซึ่งในกรณีนี้ กกต. อาจให้พรรคการเมืองที่รายงานไม่ครบถ้วนยืนยันว่านโยบายนั้นเป็นนโยบายของพรรคหรือไม่ หากเป็นนโยบายของพรรคจริง ก็ควรให้ยื่นข้อมูลที่ยังขาดอยู่มาเพิ่มเติม แต่หากไม่ใช่ ก็ควรตักเตือนไม่ให้พรรคการเมืองใช้นโยบายดังกล่าวในการหาเสียง
นอกจากนี้ กกต. ควรกำหนดแนวทางให้แก่พรรคการเมืองในการให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนต่อประชาชน และให้ฝ่ายต่าง ๆ สามารถตรวจสอบได้ โดยเฉพาะการให้รายละเอียดในการคิดต้นทุนของแต่ละนโยบาย รวมถึงควรกำหนดให้พรรคการเมืองสรุปโดยภาพรวมด้วยว่า นโยบายทั้งหมดของพรรคจะต้องใช้เงินเพิ่มเติมเท่าใด และจะมีแหล่งเงินมาจากที่ใด โดยมีรายละเอียดที่เพียงพอของแหล่งที่มาของเงิน
สำหรับข้อเสนอแนะต่อพรรคการเมืองนั้น แม้ว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยจะไม่สูงมาก แต่ก็กำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทีดีอาร์ไอ จึงมองว่าไม่ได้มีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ดังที่หลายพรรคการเมืองเสนอ และพรรคการเมืองที่จะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ควรกำหนดเงื่อนเวลาของการดำเนินตามนโยบายที่หาเสียงที่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในแต่ละปี โดยควรระวังไม่ให้การกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวสูงเกินกว่าระดับตามศักยภาพมากเกินไป รวมถึงการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากการขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง
สุดท้ายนี้ พรรคการเมืองต่าง ๆ ควรยกระดับมาตรฐานการจัดทำเอกสารระบุต้นทุนของนโยบาย และที่มาของเงินให้มีคุณภาพสูงขึ้น เพื่อแสดงถึงการเคารพต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งควรจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอีกด้วย
หมายเหตุ : เนื่องจากมีพรรคการเมืองที่เข้าร่วมการเลือกตั้ง 2566 เป็นจำนวนมาก ทีดีอาร์ไอจึงเลือกศึกษาเฉพาะเอกสารของพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 จำนวน 6 พรรค คือ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ (ซึ่งรวมพรรครวมไทยสร้างชาติในปัจจุบันด้วย) พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคก้าวไกล (พรรคอนาคตใหม่เดิม)