‘หนี้สาธารณะ’ หมายถึง หนี้ที่รัฐบาลกู้ยืมมาและต้องชำระคืนในอนาคตด้วยการหารายได้จากการจัดเก็บภาษีจากประชาชนและภาคธุรกิจ โดย ‘เพดานหนี้สาธารณะ’ หรือ ‘Debt Ceiling’ คือวงเงินจำกัดของหนี้ที่รัฐบาลจะกู้ได้ เพื่อป้องกันการก่อหนี้ที่มากเกินไป และอาจเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ในอนาคต
ล่าสุด สถานการณ์ของสหรัฐฯ กำลังตกอยู่ในภาวะตึงเครียดและเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ โดย เจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) รัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ ออกมาประกาศว่า หากรัฐสภาสหรัฐฯ ไม่อนุมัติขยายเพดานหนี้สาธารณะก่อนวันที่ 5 มิถุนายนนี้ รัฐบาลจะต้องผิดนัดชำระหนี้อย่างแน่นอน
เยลเลนได้ร้องขอให้สมาชิกสภาฯ ทำข้อตกลงในการเพิ่มเพดานหนี้ โดยเขียนจดหมายถึง เควิน แมคคาร์ธี (Kevin McCarthy) ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ และผู้นำสภาคองเกรสคนอื่น ๆ โดยเนื้อหาในจดหมายระบุว่า “จากข้อมูลล่าสุด เราประมาณการว่ากระทรวงการคลังจะมีเงินไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ของรัฐบาล หากสภาคองเกรสไม่ปรับเพิ่มหรือระงับใช้เพดานหนี้ภายในวันที่ 5 มิถุนายนนี้”
การประมาณการของกระทรวงการคลังก่อนหน้านี้ ระบุว่าสหรัฐฯ อาจจะหมดเงินในการชำระหนี้อย่างเร็วที่สุดในวันที่ 1 มิถุนายน 2023 ซึ่งการขยายออกไปเป็นวันที่ 5 มิถุนายนนี้ ทำให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน (Joe Biden) และสมาชิกสภาฯ มีเวลาในการหาทางออก เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้
โดยประเด็นที่น่าจับตาในขณะนี้ คือ ความเห็นแย้งระหว่าง แมคคาร์ธีที่พยายามกดดันให้รัฐบาลและพรรคเดโมแครตยอมรับเงื่อนไขการลดค่าใช้จ่ายภาครัฐลง แต่ ปธน.ไบเดน เห็นว่าวิธีการดังกล่าวสุดโต่งเกินไป พร้อมเสนอให้เพิ่มภาษีสำหรับคนอเมริกันรายได้สูงแทน ซึ่งเรื่องนี้พรรครีพับลิกันที่ครองเสียงข้างในสภาได้แสดงความไม่เห็นด้วย
ในจดหมายของเยลเลนยังระบุอีกว่า ในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ มีรายจ่ายมากกว่า 130,000 ล้านเหรียญ ในช่วง 2 วันแรก สำหรับด้านสวัสดิการสังคม และจำเป็นจะต้องใช้จ่ายเพิ่มเติมประมาณ 92,000 ล้านเหรียญ ภายในวันที่ 5 มิถุนายน
“การรอจนถึงนาทีสุดท้ายเพื่อเพิ่มเพดานหนี้ อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อธุรกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และส่งผลเสียต่ออันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ” เยลเลนกล่าว
แล้วถ้าสหรัฐฯ ผิดนัดชำระหนี้จริง ๆ อะไรจะเกิดผลกระทบและความเสียหายอะไรบ้าง? คำตอบคงต้องเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ (1) ผลกระทบภายในประเทศ เช่น หน่วยงานและประชาชนไม่ได้รับเงินอุดหนุนสวัสดิการสังคม, ทหารจะไม่ได้รับเงินเดือนจากรัฐบาล, ชาวอเมริกันที่รอรับคืนเงินภาษีจะไม่ได้รับเงิน เป็นต้น
และ (2) ด้วยความที่สหรัฐฯ มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีอำนาจทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก ส่งผลให้ประเทศคู่ค้าและตลาดการลงทุนปั่นป่วนอย่างแน่นอน เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ จะไม่สามารถชำระดอกเบี้ยให้กับนักลงทุนได้ รวมถึงนักลงทุนที่ถือพันธบัตรของรัฐบาล ซึ่งจะทำให้ความเชื่อมั่นต่อพันธบัตรสหรัฐฯ ลดลง
ที่มา : CNBC
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส