วานนี้ (29 พ.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล, นางสาวชุมาพร แต่งเกลี้ยง ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด และนายสมบูรณ์ หอมนาน ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ร่วมพิธีเปิดป้าย Road to Bangkok World Pride 2028 ณ ลานใบบัว Skywalk บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
นายชัชชาติ เปิดเผยว่า งาน “บางกอกไพรด์ 2023” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายนนี้ จะเป็นการแสดงถึงการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งความแตกต่างนั้นไม่ใช่แค่เรื่องเพศเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงความคิด มุมมอง ความแตกต่างทั้งร่างกาย จิตใจ และอื่น ๆ
“เมืองจะเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคนได้ เราต้องยอมรับความแตกต่างซึ่งกันและกัน โอบกอดเพื่อน ๆ เราที่มีความแตกต่างไว้ เพราะการยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศ เป็นพื้นฐานของการยอมรับความต่างในเรื่องอื่น ๆ ต่อไป และขอให้ทุกคนมาร่วมงานอย่างมีความสุข และ กทม. พร้อมร่วมเดินหน้าสู่การคว้าโอกาสการเป็นเจ้าภาพ World Pride 2028 ที่จะถึงนี้” นายชัชชาติกล่าว
ทางด้าน นายศานนท์ เปิดเผยว่า เป็นช่วงเวลาครบ 1 ปีพอดี ที่นายชัชชาติและทีมบริหารเข้ามาทำงาน ซึ่งตรงกับงานพาเหรดไพรด์ของปีที่แล้ว ซึ่งจัดขึ้นที่ถนนสีลม โดยปีนี้ย้ายมาจัดอย่างยิ่งใหญ่ที่ถนนพระราม 1 ซึ่งตนต้องขอบคุณความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในความทุ่มเทเพื่อให้เกิดงานครั้งนี้
“การได้เห็นภาพวาดบนผนังหน้าหอศิลป์ฯ ที่สื่อถึงความหลากหลายทางเพศ และพร้อมพาเทศกาล Pride Month ของกรุงเทพฯ ไปสู่ระดับโลก เป็นความเปลี่ยนแปลงมหาศาล และอยากเชิญชวนทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้” นายศานนท์กล่าว
สำหรับงานวานนี้ (29 พ.ค. 66) บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน เนรมิตแลนด์มาร์กสำคัญใจกลางกรุงเทพฯ ด้วยงานผลงานศิลปะจากแคมเปญ “Road To Bangkok World Pride 2028” เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลแห่งความภาคภูมิใจ (Pride Month) ในเดือนมิถุนายน 2566 พร้อมปักธงเป้าหมายในการเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับความหลากหลายที่สุดในเอเชีย โชว์ความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพ World Pride 2028 โดยมีผลงานของศิลปินชาวสีรุ้งส่งเข้าร่วมประกวด 80 ผลงาน และคัดเหลือ 10 ผลงานที่โดดเด่นและสื่อความหมาย
สำหรับผลงานที่ได้รางวัลอันดับ 1 จะถูกติดตั้งบริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ชื่อว่า “The Road to Equality: Bangkok World Pride 2028” จากศิลปิน สรธร หวังนิตย์สุข ที่ถ่ายทอดผลงานโดยใช้แนวความคิด “The Road to Equality ทางเดินแห่งความเท่าเทียม”
โดยออกแบบให้พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ซึ่งเป็นดั่งสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร ประทับอยู่กลางภาพ และล้อมรอบด้วยธง ซึ่งเป็นตัวแทนของความหลากหลายทางเพศต่าง ๆ โดยยืนอยู่บนทางเดินเกลียวคลื่น และมีชาว LGBTQIAN+ จากทุกเชื้อชาติ กำลังเดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานคร หมายถึง กรุงเทพมหานคร พร้อมโอบรับและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และพร้อมจะเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Pride 2028
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ขอเชิญชวนทุกคนเข้าร่วมงาน “บางกอกไพรด์ 2023” จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน 2566 ตั้งแต่เวลา 14.00 – 20.00 น. เพื่อพบกับประสบการณ์การเดินพาเหรดที่สนุกสนาน เป็นมิตรกับทุกเพศทุกวัย รวมถึงผู้ให้ความใส่ใจสำหรับผู้พิการ ผ่านขบวนพาเหรดที่จะเริ่มต้นตั้งแต่บริเวณแยกปทุมวัน ถนนพระราม 1 ฝั่งสยามพิวรรธน์ จนถึงแยกราชประสงค์ บริเวณลานเซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมด้วยธงสีรุ้งยาวที่สุดในประเทศไทย ที่จะโบกสะบัดเพื่อประกาศชัดถึงความเท่าเทียมกันของผู้มีความหลากหลายทางเพศ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส