เมื่อบ้านคือที่อยู่อาศัยที่มั่นคงที่สุด แต่การจะมีบ้านสักหลังเป็นของตัวเองอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการจะซื้อบ้านสักหลังผู้ซื้อต้องมีความพร้อมหลายอย่าง ทั้งสภาพคล่องทางการเงิน และการเป็นหนี้ระยะยาว ดังนั้นทางเลือกหนึ่งที่สามารถตอบโจทย์นี้ได้คือ “การประมูลบ้านจากกรมบังคับคดี” หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกกันว่า “ขายทอดตลาดบ้าน” นั่นเอง
ทรัพย์ขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดี จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่น่าสนใจ สำหรับคนที่กำลังมองหาบ้าน-คอนโดมือสอง สภาพดี ในราคาที่สามารถเอื้อมถึง โดยใช้วิธีประมูลจากกรมบังคับคดี แต่การจะเข้าไปประมูลนั้น มีข้อดี – ข้อเสียอย่างไรบ้าง
ข้อดี
1. ได้ราคาถูกกว่าท้องตลาด เพราะโจทย์ต้องการให้จำเลยชำระหนี้ให้เร็วที่สุด ราคาเริ่มต้นจึงถูกกว่าท้องตลาดมาก
2. มีให้เลือกหลายทำเล
ข้อเสีย
1. เป็นบ้านตามสภาพจริง ผู้ซื้อไม่มีโอกาสเห็นบ้านอย่างละเอียดก่อนการซื้อ อาจถูกหมกเม็ดหรือแอบซ่อนความบกพร่องบางอย่างไว้
2. เจ้าของเดิมอาจยังไม่ย้ายออก อาจจะด้วยไม่มีที่ไปจริงๆ หรือเหตุผลส่วนตัวอื่น ๆ ทำให้ต้องมีการฟ้องร้องขับไล่ต่อไป ซึ่ง ณ จุดนี้บ้านก็ยังเป็นของเจ้าของเก่าเหมือนเดิม การเข้าไปยุ่งเกี่ยวใดๆ กับบ้านผู้ประมูลอาจมีความผิดฐานบุกรุก
3. ไปแล้วเสียเวลา เพราะโจทย์กับจำเลยเคลียร์กันจบ ถอนทรัพย์ไปเมื่อประมูลรอบที่ 2 ก็ต้องกลับบ้านมือเปล่าหรือประมูลรายการอื่นต่อไป
4. ผู้ประมูล ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นภาษี ค่าธรรมเนียม ค่าโอน
เจ้าของเดิมไม่ยอมย้ายออก ต้องทำยังไง
กรมบังคับคดี ออกมาแนะนำแนวทางว่า เจ้าของใหม่ต้องร้องศาล เพื่อขอให้ศาลมีหมายบังคับคดี ขับไล่เจ้าของเดิม และคนในบ้านออกจากทรัพย์สินนั้น และเจ้าของเดิมก็สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเจรจาไกล่เกลี่ยได้เช่นกัน
ดังนั้น ผู้ซื้อหรือเจ้าของคนใหม่ สามารถไปขอคำสั่งศาล ให้มีการบังคับคดีขับไล่ผู้ที่อยู่อาศัยอยู่ในบ้านนั้นออกไปในระยะเวลาที่ศาลสั่งได้ ถ้าเป็นการซื้อบ้านต่อจากกรมบังคับคดี จะไม่เป็นคดีใหม่ สามารถขับไล่ได้ทันที แต่ถ้าเป็นการได้มาโดยคดีอื่นๆ อาจเสียเวลาเป็นปีๆ ดังนั้น คนที่น่าสงสารตัวจริงอาจเป็นเจ้าของบ้านใหม่นี้มากกว่าคนอื่น
ที่มา : กรมบังคับคดี
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส