เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2023 นางอนิตา แอนเน็ต อะมอง (Anita Annet Among) ประธานรัฐสภายูกันดา เปิดเผยว่า ประธานาธิบดีโยเวรี มูเซเวนี (Yoweri Museveni) ผู้นำของยูกันดา ได้ลงนามในกฎหมายต่อต้านกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) แล้ว หลังจากผ่านการพิจารณาขั้นแรกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมี ส.ส. เห็นชอบ 387 เสียงจาก 389 เสียง และมีเพียง 2 คนเท่านั้นที่คัดค้าน
กฎหมายต่อต้าน LGBTQ+ ของยูกันดา ขึ้นชื่อว่า “โหดร้ายที่สุดในโลก” โดยเนื้อหาของกฎหมายกำหนดให้มีการปราบปรามกลุ่ม LGBTQ+ อย่างต่อเนื่องในประเทศ และการมีความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างเพศเดียวกันถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย โดยมีอัตราโทษสูงสุดคือประหารชีวิต ทั้งนี้ เนื้อหาของกฎหมายดังกล่าวยังครอบคลุมถึงการห้ามสนับสนุนกลุ่ม LGBTQ+ และการสมรู้ร่วมคิดที่เกี่ยวข้องกับรักร่วมเพศอีกด้วย
ด้วยความโหดร้ายของกฎหมาย ทำให้การกระทำของ ปธน.มูเซเวนี ถูกประณามจากชาวยูกันดาจำนวนมาก รวมถึงระดับนานาชาติ โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่าพวกเขารู้สึกตกใจอย่างมาก ที่กฎหมายซึ่งมีการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจนมีผลบังคับใช้ นับเป็นการละเมิดสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ อย่างชัดเจน ในขณะที่รัฐบาลอังกฤษออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยูกันดาทบทวนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว
ทางด้าน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน (Joe Biden) ผู้นำของสหรัฐฯ และนายแอนโทนี บลินเกน (Antony Blinken) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ได้ออกมาประณามการกระทำของ ปธน.มูเซเวนี เช่นกัน โดยทั้งคู่ระบุว่า กฎหมายต่อต้าน LGBTQ+ ของยูกันดาได้บ่อนทำลายสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างน่าเศร้า
แฟรงก์ มูกิชา (Frank Mugisha) หนึ่งในชาวยูกันดาไม่กี่คนที่ใช้ชีวิตอย่างเปิดเผยในฐานะเกย์ และนักเคลื่อนไหวเพื่อกลุ่ม LGBTQ+ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า กฎหมายต่อต้าน LGBTQ+ ของยูกันดา เป็นตัวจุดชนวนให้เกิดการใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และทำให้พวกเขาหวาดกลัวที่จะไปรับบริการที่ศูนย์สุขภาพ
นายมูกิชายังเปิดเผยอีกว่า ชาว LGBTQ+ หลายคนเริ่มเกิดบาดแผลในใจจากเหตุการณ์ต่าง ๆ รอบตัว และกลายเป็นความเครียดสะสม ซึ่งพวกเขาไม่สามารถระบายหรือปรับทุกข์กับใครได้ เนื่องจากข้อกำหนดของกฎหมาย ทำให้หลายคนจึงเลือกที่จะจบชีวิตของตนเอง
กฎหมายต่อต้าน LGBTQ+ ของยูกันดามีผลบังคับใช้แล้ว แม้ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างชัดเจน และขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ รวมถึงสนธิสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ โดยนายมูกิชาระบุว่า เขากำลังเตรียมยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พิจารณาและทบทวนกฎหมายดังกล่าว
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส