การลาออกจากงานมักเป็นเรื่องกระอักกระอ่วนใจของใครหลายคน และเป็นเรื่องที่ยากยิ่งสำหรับมนุษย์อินโทรเวิร์ต (Introvert) หรือคนที่มีโลกส่วนตัวสูง ระมัดระวังในการใช้คำพูด และช่างเกรงอกเกรงใจ ทำให้การเดินไปบอกหัวหน้าว่า “ขอลาออก” ถือเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับพวกเขาและต้องรวบรวมความกล้าจำนวนมาก
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว “Exit” บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นจึงเปิดให้บริการ “รับจ้างลาออก” เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าช่างเกรงใจทั้งหลายให้สามารถลาออกจากงานได้อย่างสบายใจ หรือแม้แต่ลูกค้าที่อาจจะจบกับนายจ้างไม่ดีเท่าไร และไม่ต้องการกลับไปที่ออฟฟิศอีกเพื่อเขียนใบลาออก พวกเขาก็พร้อมให้บริการเสมอด้วยการคิดค่าธรรมเนียมเพียง 20,000 เยน หรือประมาณ 5,000 บาท
สำหรับกระบวนการ “ลาออกแทน” จะเริ่มต้นเมื่อลูกค้าติดต่อ Exit และจ่ายค่าธรรมเนียมเรียบร้อย หลังจากนั้น Exit จะดำเนินการยื่นใบลาออกในนามของลูกค้า รวมถึงการเจรจาให้ลูกค้าลาออกจากงานได้ทันที โดยไม่ต้องกลับไปทำงานอีก
“ฉันรู้สึกแย่มากที่ต้องลาออกจากบริษัทที่ฉันเพิ่งได้เข้าไปทำงาน แต่จิตใจของฉันรู้สึกอ่อนล้ามากจนไม่สามารถไปทำงานที่บริษัทนั้นได้อีกแล้ว แล้วฉันก็อึดอัดมากที่จะต้องกลับไปบอกหัวหน้า ฉันไม่รู้จะพูดอะไรเลย ถ้าหัวหน้าถามอะไรบางอย่างกลับมา มันรู้สึกแย่ไปหมด” ลูกค้ารายหนึ่งของ Exit ให้สัมภาษณ์
แม้จะเป็นธุรกิจสุดแปลก แต่ Exit ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2017 ก็ได้ช่วยให้ลูกค้าลาออกจากงานสำเร็จมาแล้ว 10,000 คนต่อปี และโมเดลธุรกิจของ Exit ก็ได้มีบริษัทอื่น ๆ นำไปใช้ จนเกิดเป็นบริษัทรับจ้างลาออกมากกว่า 20 แห่ง และกลายเป็นอุตสาหกรรมเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นที่น่าสนใจมาก เมื่อประกอบกับผู้คนจำนวนมากที่อยากลาออกจากงานหลังจากเกิดโรคระบาดก็ยิ่งทำให้ธุรกิจนี้เติบโตขึ้นไปอีก
นิอิโนะ โทชิยูกิ (Niino Toshiyuki) ผู้ก่อตั้ง Exit เปิดเผยว่า เขาก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้นจากความยากลำบากในการลาออกของตัวเอง โดยหลายปีก่อนเขาต้องการลาออกจากงาน เพราะไม่มีความสุข แต่ก็ต้องเจอกับความกดดันจากหัวหน้าที่พยายามทำให้เขารู้สึกผิด หรือแม้แต่การต้องนั่งทำงานต่อไป เพื่อรอให้ใบลาออกมีผล ซึ่งในระหว่างนั้นก็จะมีความพยายามเกลี้ยกล่อมให้พนักงานอยู่ทำงานต่อและยกเลิกใบลาออก
“นายจ้างในญี่ปุ่นมักทำให้คุณรู้สึกผิดและอับอาย หากคุณต้องการลาออกจากบริษัทที่เข้าไปทำงานได้ไม่ถึง 3 ปี ผมมีช่วงเวลาที่ยากลำบากอย่างมากในการพยายามลาออก” นิอิโนะกล่าว
นิอิโนะระบุว่า ลูกค้าของ Exit ที่เข้ามาใช้บริการ มักมาด้วย 2 สาเหตุหลัก ๆ คือ พวกเขาไม่มั่นใจที่จะเผชิญหน้ากับนายจ้าง เพื่อขอลาออก และเหตุผลที่ 2 คือ พวกเขาเป็นฝ่ายรู้สึกผิดที่ต้องลาออก เนื่องจากรู้สึกว่าตัวเองกำลังทอดทิ้งบริษัท
ผู้ก่อตั้ง Exit ยังให้สัมภาษณ์อีกว่า “สำหรับบางคนแล้วการลาออกจากงานไม่ต่างอะไรจากการทำบาปเลย มันเหมือนกับว่าพวกเขาทำผิดพลาดอย่างร้ายแรง ในขณะที่บางคนต้องการลาออกจากงาน เพราะว่าไม่ชอบหัวหน้า แต่พวกเขาก็หวาดกลัวเกินกว่าจะพูดความจริงข้อนี้ และให้เหตุผลอื่น ๆ แทน เช่น พวกเขาต้องออกไปดูแลครอบครัว”
ตามปกติแล้ว การลาออกของพนักงานจะถูกขอให้ระบุสาเหตุการลาออกเอาไว้ เพื่อให้นายจ้างและบริษัทได้นำไปปรับปรุง และป้องกันการลาออกของพนักงานอีกในอนาคต ซึ่งการที่พนักงานไม่บอกสาเหตุที่แท้จริงของการลาออก ทำให้บริษัทไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด ซึ่งนิอิโนะก็รู้เรื่องนี้ดีและบอกว่า ธุรกิจของเขาช่วยให้พนักงานได้บอกสาเหตุที่แท้จริงของการลาออก และบริษัทเองก็ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการนำไปปรับปรุง นับว่าไม่มีใครเสียประโยชน์จากธุรกิจของเขา
สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความโหดร้ายในสังคมการทำงาน โดยนายจ้างส่วนมาก คาดหวังให้พนักงานทำงานล่วงเวลาเป็นประจำ โดยไม่ได้รับค่าจ้าง ในขณะที่อัตราการลาออกในแต่ละบริษัทนั้นอยู่ในระดับต่ำ
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังถือเป็นประเทศต้นกำเนิดของ “คาโรชิ ซินโดรม” (Karoshi Syndrome) หรือการเสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินไป ซึ่งปัญหานี้รุนแรงมากมาก่อนหน้าที่จะเกิดโรคระบาด โดยผลสำรวจจากภาครัฐเปิดเผยว่า 1 ใน 5 ของพนักงานชาวญี่ปุ่นมีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อคาโรชิ ซินโดรม และเพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว รัฐบาลญี่ปุ่นได้พยายามแทรกแซงบริษัท เพื่อควบคุมสังคมการทำงานที่ไร้ความปรานีของญี่ปุ่น
นิอิโนะระบุว่า ลูกค้าของ Exit ต้องอดทนอย่างมากที่จะไม่ฆ่าตัวตาย เนื่องจากการทำงานในบริษัทที่พวกเขาไม่ต้องการ และบริการรับจ้างลาออกแทนได้ช่วยชีวิตพวกเขาไว้ หรืออย่างน้อย ๆ ก็ช่วยให้พวกเขาหยุดคิดเรื่องนั้น
“ผมได้รับการชื่นชมอย่างมากที่ก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้น แต่มันน่าเศร้ามากที่ผมบริหารบริษัทนี้มา 6 ปีแล้ว แต่จำนวนลูกค้าของเรากลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั่นหมายความว่า บริษัท นายจ้าง และสังคมการทำงานของญี่ปุ่นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย และผมเศร้าที่ต้องบอกว่าต่อให้อีก 100 ปีต่อจากนี้ ผมคิดว่ามันก็คงยังเป็นแบบเดิม” นิอิโนะกล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : Yahoo Finance, BBC
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส