การจะประกอบอาชีพใดอาชีพหนึ่งให้สำเร็จคงหนีไม่พ้น ‘ความก้าวหน้าในอาชีพ’ และ ‘รายได้’ ที่แต่ละคนพึงได้รับ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน เหล่าหมอและพยาบาลในประเทศกานา (Ghana) กำลังแห่ไปทำงานกันในประเทศที่ที่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า จนประเทศประสบกับปัญหา ‘สมองไหล’ ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์อย่างหนัก
ภาวะสมองไหล (Brain Drain) คือปรากฏการณ์ที่ชนชั้นที่มีทักษะสูงแห่ออกไปทำงานที่ต่างประเทศกันเป็นจำนวนมาก เพื่อมองหาโอกาส สวัสดิการและช่องทางการหารายได้ที่ดีกว่า จนส่งผลทำให้ประเทศของตนขาดแคลนบุคลากรประเภทนี้เสียเอง ซึ่งอาจสร้างผลเสียให้กับเศรษฐกิจและมีผลต่อองค์ความรู้ในประเทศอย่างมหาศาล
สำนักข่าว BBC รายงานว่าประเทศกานา กำลังประสบปัญหา ‘สมองไหล’ จนแทบจะเหนือการควบคุมแล้ว เหล่าหมอและพยาบาลหลายคนออกจากประเทศแอฟริกาตะวันตกแห่งนี้ เพื่อไปทำงานในต่างประเทศที่ได้รับค่าตอบแทนดีกว่า
จากข้อมูลในปี 2022 พบว่าพยาบาลชาวกานามากกว่า 1,200 คนตัดสินใจเข้าร่วมเป็นพยาบาลในสหราชอาณาจักร ซึ่งก่อนหน้านี้ เพิ่งเปิดโครงการ National Health Service (NHS) เพื่อรับสมัครแพทย์และพยาบาลจากประเทศนอกสหภาพยุโรป โดยมีจุดประสงค์คือเติมเต็มตำแหน่งงานที่ว่างอยู่
แต่การทำแบบนี้ กลับส่งผลให้กานาเกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์อย่างหนัก จากปกติที่มีหมอกับพยาบาลไม่เยอะอยู่แล้ว กลับมีน้อยลงกว่าเดิมอีก ทำให้กระทบต่อการให้บริการของโรงพยาบาลโดยตรง เพราะจะทำให้โรงพยาบาลรองรับผู้ป่วยเพิ่มเติมได้น้อยลง ทั้งนี้ก็ยังจะเกิดความล่าช้าและส่งผลให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ
ด้านคลินิกขนาดเล็กก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน เพราะถึงแม้จะเป็นแค่ศูนย์สุขภาพขนาดเล็ก ๆ แต่การสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ไปแม้แต่คนเดียว ก็ย่อมส่งผลเสียตามมามากมาย ลำพังจะหาใครมาแทนก็ทำได้ยาก เพราะแม้จะเปิดรับสมัครพยาบาลคนใหม่ แต่ก็ต้องใช้เวลาในการฝึกอบรมอีก
ด้านพยาบาลที่ย้ายจากกานาไปทำงานต่างประเทศให้เหตุผลที่ต้องออกจากประเทศตัวเองไปทำงานที่อื่นเป็นเพราะที่ต่างประเทศสามารถหารายได้ได้มากกว่า ซึ่งหากย้อนไปในช่วงที่ทำงานในประเทศ เขาต้องเจอกับปัญหาเงื่อนไขด้านการทำงานที่แย่มาก ๆ แถมเงินเดือนก็แทบไม่เหลือพอส่งให้ที่บ้านเลย จำเป็นต้องใช้เงินแบบเดือนชนเดือนตลอด ซึ่งพอย้ายมาทำงานที่สหราชอาณาจักร ปรากฏว่าได้รับค่าตอบแทนมากกว่าเดิมถึง 7 เท่า
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนเรื่องนี้จะมีเงื่อนงำ เพราะองค์การอนามัยโลก (WHO) เคยจัดให้ประเทศกานาอยู่ใน ‘บัญชีแดง’ ซึ่งเป็นประเทศที่มีความเปราะบางและมีจำนวนพยาบาลต่อหัวประชากรในอัตราต่ำ ซึ่ง WHO เรียกร้อง (แต่ไม่ได้ห้าม) ไม่ให้ประเทศร่ำรวยดึงบุคลากรจากประเทศเหล่านี้ไปใช้อย่างโจ่งแจ้งเกินไป
ทว่า มันมีเงื่อนงำตรงที่สหราชอาณาจักรเพิ่งมอบเงินช่วยเหลือจำนวน 15 ล้านปอนด์ (653 ล้านบาท) ให้แก่กานา ไนจีเรีย และเคนยา เพื่อสนับสนุนเรื่องบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งการผูกสัมพันธ์แบบนี้ ย่อมหมายถึงว่าสหราชอาณาจักรจะสามารถดึงเอาแพทย์และพยาบาลของกานาไปใช้ได้มากขึ้น แลกกับการมอบเงินช่วยเหลือให้รัฐบาล เพื่อทดแทนเหล่าพยาบาลที่หายไป
จิม แคมป์เบลล์ (Jim Campbell) ผู้อำนวยการบุคลากรด้านสุขภาพขององค์การอนามัยโลก บอกกับบีบีซีว่า หลังจาก Brexit ทำให้สหราชอาณาจักรต้องหันไปหาประเทศในแอฟริกามากขึ้น เพื่อรับพยาบาลมาทดแทนตำแหน่งงานที่ว่างในระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักรและกานาคือหนึ่งในประเทศที่สหราชอาณาจักรเล็งไว้
ด้าน เพอเพชวล โอโฟรี-แอมโพโฟ (Perpetual Ofori-Ampofo) พนักงานจากสมาคมพยาบาลและพยาบาลผดุงครรภ์แห่งกานา บอกว่าไม่เห็นด้วยที่สหราชอาณาจักรดึงบุคลากรของกานาไปทำงานด้วย เพราะกานากำลังประสบปัญหาขาดแคลนหมอและพยาบาลอยู่ อย่างไรก็ตาม เธอทิ้งท้ายว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะห้ามหมอและพยาบาลออกไม่ให้ออกไปทำงานต่างประเทศ แต่รัฐบาลกานาก็ต้องทำอะไรมากกว่านี้เพื่อยื้อให้พวกเขายังอยู่กับประเทศต่อไป
ที่มา : BBC
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส