นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หารือกับผู้บริหาร BTS ถึงแนวทางแก้ปัญหาการชำระหนี้ให้กับ นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นปัญหาที่นำมาสู่การฟ้องร้องศาลปกครอง
“กรุงเทพมหานครเตรียมการเรื่องการชำระหนี้มาตลอด แต่ต้องชี้แจงว่ากระบวนการในการดำเนินการ อย่างเรื่องที่บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ไปจ้าง BTS เป็นผู้เดินรถไฟฟ้า เรื่องนี้ต้องขออนุมัติจากทางสภากรุงเทพมหานครก่อน และเรื่องการชำระเงินค่าจ้างให้แก่เอกชน ก็ต้องพิจารณานำเงินสะสมจ่ายขาดไปดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันมีคงเหลือ 4-5 หมื่นล้านบาท และเรื่องนี้ก็ต้องเสนอให้สภากรุงเทพมหาครพิจารณา” นายชัชชาติ กล่าว
แก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวคู่ขนานใน 2 ทาง
- การนำเรื่องเสนอเข้าสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วนี้
- การติดตามเร่งรัดทางรัฐบาลในหลายประเด็น รวมถึงแนวทางเกี่ยวกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 44 ในเรื่องพิจารณามูลหนี้ต่อการทำสัญญาสัมปทานใหม่ โดยที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้ทำหนังสือไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้ว
ทวงถามถึงรัฐบาล
เรื่องที่ 1 อยากให้การสนับสนุนจากรัฐบาลสําหรับโครงสร้างพื้นฐานกับค่าติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) เนื่องจากก่อนหน้านี้มีคำสั่ง มาตรา 44 มอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบในโครงการนี้ แต่ไม่ได้ให้ค่าใช้จ่ายมาด้วย ดังนั้น กรุงเทพมหานครต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนค่าจ้างส่วนนี้ และค่าโครงสร้างพื้นฐานเหมือนโครงการลงทุนอื่นๆ
เรื่องที่ 2 เรื่องที่ค้างอยู่ตาม มาตรา 44 เกี่ยวกับมูลหนี้ที่เกิดจากในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยก่อนหน้านี้คำสั่งดังกล่าวจะพิจารณาในเงื่อนไขให้สัญญาสัมปทานใหม่ ปัจุจบันกรุงเทพมหานคร ได้ทำหนังสือทวงถามถึงแนวทาง และมูลหนี้ที่เกิดขึ้นว่ามีจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งตอนนี้เรื่องยังคงค้างอยู่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังไม่มีข้อยุติ ดังนั้นคงต้องสอบถามและเร่งรัดทาง ครม.ด้วยว่าจะพิจารณาอย่างไร
“เราก็เห็นใจทางเอกชนเพราะมีภาระหนี้ที่เยอะ BTS ก็เป็นตัวสำคัญที่ช่วยบรรเทาเรื่องการเดินทาง แต่ว่าเป็นระเบียบปฏิบัติซึ่งทั้งฝ่ายบริหารกับทางสภากรุงเทพมหานคร ก็เข้ามาหลังจากที่มีการดำเนินการไปแล้วนั้น ทำอย่างไรให้ทุกอย่างมันเป็นไปตามในกรอบระเบียบที่กำหนด” นายชัชชาติ กล่าว