ยุคนี้ สมัยนี้ ไม่ว่าจะไปสมัครงานที่ไหน บริษัทจะเล็กหรือใหญ่เท่าไร สิ่งแรกที่มักจะได้ยินจากจากฝ่ายบุคคล (HR) ขององค์กรนั้น ๆ ก็คือ ส่ง ‘เรซูเม่’ (Resume) เข้ามาก่อนค่ะ ซึ่งเรซูเม่นั้น มาจากคำว่า ‘Résumé’ ในภาษาฝรั่งเศส ที่แปลว่าการสรุป ดังนั้นการเขียนเรซูเม่จึงเป็นเหมือนการเขียนสรุปสรรพคุณของตัวเอง ว่าทำอะไรได้บ้าง มีความสามารถมากแค่ไหน เพียงพอต่อความต้องการที่จะจ้างให้คุณเข้ามาทำงานในองค์กรหรือไม่
แล้วเคยสงสัยไหมว่า ใครคือคนแรกที่เริ่มเขียนเรซูเม่นี้ขึ้นมานะ คำตอบก็คือ ‘เลโอนาร์โด ดา วินชี’ (Leonardo da Vinci ) อัจฉริยะบุคคลผู้รอบรู้ เจ้าของผลงานชิ้นเอกระดับโลกอย่างภาพวาด ‘โมนา ลิซา’ (Mona Lisa) นั่นเอง
แค่อยากหางานทำ จนเกิดเป็น Resume ฉบับแรกของโลก
ย้อนกลับไปในปี 1482 ช่วงที่ดาวินชีกำลังหางานทำในวัย 30 แต่ด้วยความที่ตอนนั้นเขายังไม่ได้มีชื่อเสียงมากนัก ดาวินชีจึงเลยเขียนจดหมายขึ้นมา 1 ฉบับ ส่งไปถึง ลูโดวิโก สฟอร์ซา (Ludovico Sforza) ผู้สำเร็จราชการของเมืองมิลาน ที่กลายเป็นดยุกผู้ปกครองมิลานในเวลาต่อมา
เนื้อความในจดหมายฉบับนั้น เป็นเพียงข้อความธรรมดาที่บรรยายว่า เขาเป็นใครมาจากไหน และทำอะไรเป็นบ้าง แต่สิ่งที่ทำให้จดหมายฉบับนี้ดูไม่ธรรมดาคือ การบรรยายสรรพคุณของตัวเองออกมาเป็น 11 ข้อ ที่อ่านแล้วเห็นภาพตาม เช่น การประดิษฐ์ปืนครกที่พกพาและใช้งานได้สะดวก รวมถึงการประดิษฐ์รถศึกหุ้มหลังคา ที่สามารถยิงปืนใหญ่รอบทิศทางได้
ส่วนความสามารถด้านศิลปะก็ไม่น้อยหน้า เพราะเขาทำได้ทั้งภาพวาด ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับเมืองมิลานด้วย
ในที่สุด ดา วินชี ก็ได้งานทำสมใจ เขาได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายเทศกาลในมิลาน โดยมีลูโดวิโก สฟอร์ซา ดยุกแห่งมิลาน คอยอุปถัมภ์และสนับสนุนอยู่นานหลายสิบปี จนนำไปสู่ผลงานภาพวาดอาหารค่ำมื้อสุดท้ายหรือ ‘The Last Supper’ อันเลื่องชื่อ และจดหมายของดาวินชีฉบับนี้ ก็ถูกยกย่องให้กลายเป็น จดหมายสมัครงาน หรือ ‘เรซูเม่ฉบับแรกของโลก’
ต้นแบบ Resume ของมนุษย์เงินเดือน
แม้ว่าเรซูเม่จะผ่านการปรับปรุงหลายครั้งทั้งในด้านรูปแบบ สไตล์ และภาษา แต่ต้องยอมรับว่า เป้าหมายสำคัญของเรซูเม่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปเลย เพราะมันถูกออกแบบมาเพื่อจุดประกายความสนใจ และสร้างความประทับใจแรก เรียกว่า จะซื้อ ไม่ซื้อ ก็อยู่ที่เรซูเม่นั่นแหละ เมื่อผ่านแล้วด่านต่อไปที่ต้องเจอก็คือ การสัมภาษณ์จากเหล่าหัวหน้า หรือผู้ที่มีตำแหน่งเกี่ยวข้องกับงานนั้น ๆ ประกอบการตัดสินใจ
เขียน Resume ยังไงให้ได้งาน
เรซูเม่ที่ดี ควรกระชับและจบใน 1 หน้า แต่ถ้าข้อมูลเยอะก็ไม่ควรเกิน 2 หน้า แม้เรซูเม่ จะไม่ได้มีแบบฟอร์มที่ตายตัว แต่ไม่ควรขาด 7 ส่วนนี้ เริ่มจาก
• ประวัติส่วนตัว ทั้งชื่อ – นามสกุล ยศ ตำแหน่ง (ถ้ามี) บางตำแหน่งงานอาจต้องใช้น้ำหนักและส่วนสูงประกอบการตัดสินใจ รูปถ่ายหน้าตรงแบบสุภาพ และที่ขาดไม่ได้เลยคือ ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ เพื่อใช้ในการติดต่อกลับ
• ประวัติการศึกษา (เรียงจากลำดับจากสูงสุด) ไล่ไปเลยตั้งแต่ปริญญาเอก ปริญญาโท เคยได้เกียรตินิยม มีเกียรติบัตรกี่ใบใส่ไปให้หมด ถือเป็นการพรีเซนต์ความสามารถของเราให้รู้ไปเลย
• จุดมุ่งหมายในการทำงาน แม้จะการันตีไม่ได้ว่าคำตอบข้อนี้จะทำให้เราได้งานหรือไม่ แต่อาจจะเป็นหนึ่งในเหตุผลประกอบของผู้ว่าจ้าง ซึ่งอาจจะมีผลต่อการพิจารณาเงินเดือนและตำแหน่งงาน
• ประสบการณ์การทำงาน ตอนนี้แหละที่ได้โชว์ของอย่างแท้จริง เคยทำหน้าที่อะไรกับบริษัทไหนมากี่ปี โดยไล่จากปัจจุบัน ไปถึงอดีต
• ทักษะและความสามารถพิเศษ นอกจากจะทำงานเป็นแล้ว ทักษะอื่น ๆ เช่น พูดได้กี่ภาษา เข้าใจภาษาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาษาไทยได้ดีแค่ไหน หรือการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ได้หลากหลาย เรียกว่าจะให้ทำอะไรก็มาเหอะ ทำได้หมด อาจจะเป็นอีกหนึ่งใบเบิกทางที่ทำให้เราดูโดดเด่นขึ้นมาเลยก็ว่าได้ ส่วนความสามารถอื่น ๆ เช่น การขับรถ หรืองานอดิเรก เช่น เล่นดนตรี กีฬา ก็ถือเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบของการเข้าสังคมคนทำงานเช่นกัน
• รางวัลแห่งความสำเร็จต่าง ๆ ไม่ว่าจะเคยเข้าร่วมประกวดจากเวที หรือโครงการไหน ก็ถือเป็นความสำเร็จของเราทั้งนั้น ซึ่งนี่คือสิ่งที่ตอบได้ว่า เรามีความกระตือรือร้นมากพอที่จะหาทำสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ ซึ่งก็ควรไล่ลำดับเวลาจากปัจจุบัน ไปถึงอดีตเช่นกัน
• สุดท้ายคือ บุคคลอ้างอิง ที่จะสามารถรับรองหรือให้ข้อมูลกับบริษัทที่เรายื่นใบสมัครไปได้ โดยต้องระบุ ชื่อ – นามสกุล และช่องทางการติดต่อต่าง ๆ ส่วนใหญ่นักศึกษาจบใหม่ จะอ้างอิงถึงอาจารย์ หรือผู้ที่เคยทำงานแล้วสามารถอ้างอิงถึงผู้บังคับบัญชาในอดีตได้ แต่ไม่ควรอ้างอิงถึงบุคคลในครอบครัว
แล้วคุณ! ยังจำเรซูเม่ฉบับแรกที่เคยใช้ตอนสมัตรงานได้ไหม ในนั้นอธิบายอะไรไว้บ้าง ใครที่กำลังมองหางานใหม่ ลองนำคำแนะนำเหล่านี้ไปปรับใช้กับเรซูเม่ของตัวเองเพื่อให้ดูน่าสนใจขึ้น ส่วนใครที่มีงานมั่นคงอยู่แล้วก็ขอให้มีความสุขกับการทำงานที่ตัวเองรักในทุก ๆ วัน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส