พรรคก้าวไกลโพสต์ข้อความ 5 นโยบายกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผ่านเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการของพรรค ภายหลังมีกระแสข่าวสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. ในช่วงครึ่งหลังของเดือนมิถุนายนนี้
โดยพรรคก้าวไกลได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับนโยบาย Single Digital ID และการให้ข้อมูลซ้ำ ๆ ของประชาชน เช่น ชื่อและที่อยู่ตามบัตรประชาชน เมื่อไปติดต่อขอรับบริการจากหน่วยราชการ โดยปัญหายิบย่อยเหล่านี้สะท้อนถึงโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของประเทศที่มีปัญหา
ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมา บทบาทของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในภาพจำของประชาชนยังไม่มีส่วนร่วมมากนักในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ยกเว้นการบล็อกเว็บไซต์ล่อแหลมหรือเป็นอันตราย
“หลายคนอาจคิดว่ากระทรวงที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนประเทศ คือ กระทรวงเกรด A++ ที่มีงบประมาณเยอะ หรือมีอำนาจมากในการให้คุณให้โทษข้าราชการ แต่สำหรับพรรคก้าวไกล กระทรวงที่เป็นฟันเฟืองตัวแรกในการพลิกโฉมอนาคตของประเทศ คือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” ส่วนหนึ่งของข้อความที่พรรคก้าวไกลระบุ
พรรคก้าวไกลยังระบุอีกว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมีศักยภาพ และสามารถเป็นกำลังสำคัญในการวางรากฐานอนาคตของประเทศอย่างน้อย 5 ด้าน ได้แก่
1. Single Digital ID
พรรคก้าวไกล ระบุว่า จะทำให้บัตรประชาชนใบเดียวหรือเลข 13 หลัก สามารถเชื่อมต่อฐานข้อมูลกันระหว่างหน่วยงานรัฐทั้งหมด เมื่อประชาชนเข้ามาติดต่อขอรับบริการจากหน่วยราชการ หรือกรอกเลขบัตรประชาชนทางอินเทอร์เน็ตก็สามารถรับบริการได้ทันที
ทั้งนี้ นโยบาย Single Digital ID ไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีการพูดคุยกันมาแล้วในหลายรัฐบาล แต่ผู้บริหารสูงสุดของกระทรวงฯ ไม่มีความเข้าใจเทคโนโลยีเพียงพอ ทำให้ความคืบหน้าของโครงการย่ำอยู่กับที่ แต่ในรัฐบาลของพรรคก้าวไกลจะเข้าไปทุบโต๊ะ เพื่อเชื่อมโยงระบบข้อมูลของหลายหน่วยงานที่กระจัดกระจาย เพื่อรวมข้อมูลให้เหลือระบบเดียวให้ได้ ซึ่งจะนำไปสู่การต่อยอดให้นโยบาย Single Digital ID เกิดได้จริง
2. โครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล
พรรคก้าวไกล ระบุว่า โครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจของยุคปัจจุบัน คือ โครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล ดังนั้น ความฝันของพรรคก้าวไกล คือ การสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่รวบรวมข้อมูลทุกอย่างของภาครัฐและภาคเอกชน จัดเก็บในระบบฐานข้อมูลเดียว และเปิดให้ทุกคนนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดทางเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยและการรักษาสิทธิข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งการทำให้ Megaproject ด้านข้อมูลนี้เกิดขึ้นให้ได้ จำเป็นต้องมีการทำงานทั้งในแง่ของกฎหมายและแพลตฟอร์ม
3. เปิดข้อมูลภาครัฐทั้งหมดให้เป็นรัฐเปิดเผย
พรรคก้าวไกล ระบุว่า สิ่งที่เปิดได้ทันที คือ ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด ซึ่งจะต้องออกมาในรูปแบบที่เข้าถึงและตรวจสอบได้ โดยเอกสารงบประมาณและทุกเอกสารราชการจะต้องเปลี่ยนจาก PDF ที่สแกนมาจากกระดาษ ให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถดึงออกมาประมวลผลได้ ในขณะที่การประชุมต่าง ๆ ของหน่วยงานรัฐจะต้องมีการไลฟ์การประชุมให้ประชาชนสามารถสืบค้นได้
4. การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์
พรรคก้าวไกล ระบุว่า สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมคนใหม่ทำได้ทันที คือ การนั่งหัวโต๊ะและเรียกคุยกับทุกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ให้บังคับใช้การยืนยันตัวตนโดยใช้หลายปัจจัย หรือ Multi-Factor Authentication (MFA) และให้ทุกส่วนราชการที่เปิดช่องทางโซเชียลมีเดียต้องลงทะเบียนอีกชั้น (อ่านข่าว “บรรดาเพจ Facebook หน่วยงานราชการถูกเจาะไปเผยแพร่คลิปสยิว”)
โดยกระบวนการดังกล่าว จะแก้ปัญหาโซเชียลมีเดียของหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ถูกแฮกได้ ซึ่งสิ่งนี้สามารถทำได้ทันที ไม่ต้องรอจัดซื้อจัดจ้างและไม่ต้องใช้งบประมาณ โดยโซเชียลมีเดียของหน่วยงานที่ไม่ทำตามมาตรฐานความปลอดภัยจะถูกระงับการใช้งานไปก่อนจนกว่าจะปฏิบัติตามมาตรฐาน
สำหรับระยะยาวนั้น รัฐบาลพรรคก้าวไกลจะทำให้ Cloud กลางภาครัฐเกิดขึ้นจริง เพื่อป้องกันระบบจากการแฮก และผลักดันกฎหมายคุ้มครองข้อมูล (Data Protection Act) เพื่อปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนที่มีมาตรฐานมากขึ้น
5. ยุบศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและเลิกบทบาทปิดกั้นสิทธิเสรีภาพทั้งหมด
พรรคก้าวไกล ระบุว่า กระทรวงดิจิทัลภายใต้รัฐบาลพรรคก้าวไกลจะไม่ใช่กระทรวงที่มีหน้าที่บล็อกเว็บไซต์ แต่จะต้องเป็นกระทรวงที่เอื้อต่อสังคมที่ทำให้เกิดสิทธิและเสรีภาพ 1 ใน 45 กฎหมายที่พรรคก้าวไกลเสนอ คือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่จะยกเลิกอำนาจรัฐในการปิดปากประชาชน
“การบอกว่าอะไรจริงหรือไม่จริงไม่ใช่หน้าที่ของรัฐ แต่หน้าที่ของรัฐ คือ การเปิดให้สังคมทุกภาคส่วนเข้ามาตรวจสอบ ถกเถียง และนำเสนอชุดความจริงจากฝั่งของตนเอง โดยโมเดลที่ดีคือเหมือน Co-Fact ของไต้หวัน ซึ่งเป็นศูนย์ที่ดำเนินการโดยองค์กรสื่อ สมาคมสื่อ และภาคประชาสังคม” ส่วนหนึ่งของข้อความที่พรรคก้าวไกลระบุ
ทางด้าน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้สัมภาษณ์กับรายการ ห้องข่าวภาคเที่ยง CH7HD โดยระบุว่า เป็นสิทธิ์ที่พรรคก้าวไกลจะนำเสนอ แต่นโยบายทั้ง 5 ข้อ รัฐบาลทำมาทั้งหมดแล้ว และยังต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
ส่วนประเด็นที่พรรคก้าวไกลจะยุบศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่จะยกเลิกอำนาจรัฐในการปิดปากประชาชนนั้น นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียอยู่แล้ว ส่วนการจะยกเลิกศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ เป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลนำเสนอได้ แต่ส่วนตัวเห็นว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ เป็นประโยชน์ เพราะมีข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องครบทุกด้าน ไม่ใช่มีแต่เพียงเรื่องการเมืองเท่านั้น
ที่มา : พรรคก้าวไกล, ห้องข่าวภาคเที่ยง CH7HD
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส