กรุงเทพมหานคร นำใช้ระบบเทคโนโลยี AI มาใช้ร่วมกับกล้อง CCTV เพื่อตรวจจับพฤติกรรมของผู้ฝ่าฝืนขับขี่บนทางเท้า แทนการใช้เทศกิจคอยดักจับ ซึ่งอาจมีการกระทบกระทั่งหรือเกิดความไม่โปร่งใส พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลเข้าสู่ระบบ เพื่อให้สามารถตรวจเช็กได้ว่า ทะเบียนรถคันนี้ เป็นของใคร อยู่ที่ไหน โดยมีการทดสอบไปแล้ว 5 จุด
ข้อมูลเมื่อวันที่ 12 – 20 มิถุนายน 2566 พบรถจักรยานยนต์ที่ทำผิดบริเวณปากซอยรัชดาภิเษก 36 (ซอยเสือใหญ่อุทิศ) 2,921 คัน, ปากซอยเพชรเกษม 28 ฝ่าฝืน 1,338 คัน, .หน้าโรงเรียนนิเวศน์วารินทร์ 619 คัน, ปากซอยเพชรบุรี 9 ฝ่าฝืน 49 คัน และปั้ม ปตท.เทพารักษ์ 19 คัน ข้อดีของการใช้ระบบนี้คือ สามารถตรวจสอบได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่ไปยืนเฝ้า มีความโปร่งใสและมีหลักฐาน เป็นข้อมูลแม่นยำ แถมยังสามารถแยกได้ว่าผู้ขับขี่เป็นบุคคลธรรมดา, วินมอเตอร์ไซค์ หรือเป็นไรเดอร์ โดย กทม. มีนโยบายจะเพิ่มกล้องให้ครบทั้ง 100 จุดทั่วกรุงเทพฯ
“ที่ผ่านมาเราพยายามปรับปรุงทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว เพิ่มความฉลาดเข้าไป ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก ใช้กล้องที่มีอยู่แล้ว เชื่อมโยงสัญญาณเข้าไป โดยใช้ระบบซอฟต์แวร์ AI ในการประมวลผล” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
ส่วนผู้ฝ่าฝืนที่ระบบ AI ตรวจจับได้ จะถูกนำไปเทียบกับชื่อเจ้าของทะเบียนรถ ตามข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก และส่งเข้ามายังส่วนกลาง จากนั้นสำนักเทศกิจจะรวบรวมข้อมูล ทำหนังสือส่งไปยังเจ้าของรถตามทะเบียนบ้าน เมื่อครบ 15 วันแล้ว หากยังไม่มีการชำระค่าปรับ จะจัดส่งเป็นครั้งที่ 2 ภายในไม่เกิน 30 วันหลังจากกระทำความผิด เพื่อให้ผู้ทำผิดจ่ายค่าปรับที่สำนักงานเขต
ค่าปรับ 2,000 บาท อาจจะมีผลในแง่ของการสร้างจิตสำนึกได้ดีขึ้น เพราะคนไม่รู้ว่ากล้องอยู่ที่ไหนบ้าง ข้อดีของระบบ AI คือ ไม่ต้องให้เจ้าหน้าที่เทศกิจไปนั่งเฝ้า เอาเทคโนโลยีมาปรับปรุงพฤติกรรมและเปลี่ยนจิตสำนึก
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุอีกว่า ปีนี้ กทม. จะใช้กล้อง CCTV มาช่วยในการควบคุมสัญญาณไฟจราจรเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีระบบไฟจราจรในกรุงเทพมหานครประมาณ 500 จุด หลายจุดเป็นการ Control ด้วย Manual ไม่ได้มีการดูตามปริมาณรถ โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน หรือวันเสาร์อาทิตย์ที่มีการตั้งเวลาเอาไว้แบบไม่สอดคล้องกับความต้องการ
ส่วนจุดกลับรถที่อยู่ไกล หรือลักษณะทางกายภาพอื่น ๆ ที่อาจจะไม่เอื้อต่อผู้ขับขี่ อยู่ระหว่างพิจารณาเพิ่มเติมว่าจะสามารถปรับปรุงกายภาพถนนได้หรือไม่ เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือก ไม่ต้องขี่รถย้อนศร หากมีทางเลือกที่สะดวกขึ้นประชาชนก็ไม่อยากขึ้นไปบนทางเท้า ถ้าเป็นเรื่องข้อติดขัดในแง่กายภาพ เช่นการก่อสร้างรถไฟฟ้า บางทีต้องปิดจุดกลับรถทำให้การสัญจรอาจจะลำบาก แต่นี่ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะทำผิดกฎหมาย ถ้าเราเข้าใจเหตุผลว่าทำไมประชาชนถึงต้องทำผิดกฎหมาย อาจจะปรับปรุงในด้านกายภาพให้ดีขึ้น เพื่อให้เขามีทางเลือกที่ไม่ต้องทำผิดกฎหมาย ปรับปรุงพฤติกรรม ทำให้เขามีทางเลือกที่สะดวกมากขึ้น การจะมีซอยย่อยทะลุระหว่างชุมชนได้ไหม เรื่องนี้ก็เป็นมิติสองมิติเลย คือเมื่อเรามองเห็นปัญหา เราก็เอาไปแก้ในด้านของกายภาพด้วย
ที่มา : กรุงเทพมหานคร
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส