นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังร่วมโครงการจัดระเบียบสายสื่อสาร บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าโรบินสัน บางรัก ว่า การนำสายสื่อสารลงดินเป็นเรื่องที่มีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งในแง่ของการลงทุน และกระบวนการต่าง ๆ โดยมี 2 รูปแบบ คือ
- การไฟฟ้านครหลวง (MEA) หรือ กฟน. หักเสาแล้วนำสายไฟฟ้าลงดิน แต่การทำแบบนั้นต้องใช้เวลาและมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งสายที่เห็นรกรุงรังนั้นไม่ใช่สายไฟฟ้า แต่เป็นสายสื่อสาร โดยการไฟฟ้านครหลวง มีแผนนำสายไฟฟ้าลงดินกว่า 230 กิโลเมตร จากระยะทางทั้งกรุงเทพฯ มากกว่า 2,000 กิโลเมตร แล้วสายสื่อสารทั้งหมดก็จะตามลงไปด้วย
- การจัดการสายสื่อสารให้เป็นระเบียบ จะใช้งบประมาณต่ำกว่าและทำได้เร็วกว่ามาก โดยจะดำเนินการให้เร็วที่สุด ดังนั้น วันนี้ (26 มิ.ย. 66) จึงเป็นการเริ่มกระบวนการที่ทำตรงนี้ก่อน ซึ่งก็จะทำให้เมืองเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ต้องใช้งบประมาณและระยะเวลา
ทั้งนี้ ขั้นตอนการตัดสายสื่อสาร ไม่ใช่ความรับผิดชอบของ กทม. ที่จะสามารถตัดได้เองเลย เนื่องจากสายสื่อสารอยู่ในการควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ส่วนเสาไฟฟ้าเป็นของการไฟฟ้านครหลวง และตัวสายสื่อสารก็เป็นของผู้ประกอบการเครือข่ายต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม นายชัชชาติระบุว่า ในปีแรกอาจจะช้าในเรื่องของการประสานงาน แต่ต่อไปจะมีการเร่งดำเนินการให้เร็วขึ้น และขอขอบคุณ กสทช. และผู้ประกอบการเครือข่ายต่าง ๆ รวมถึงการไฟฟ้านครหลวงที่มีการประชุมประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง
นายชัชชาติยังระบุอีกว่า ในปี 2566 นี้จะเพิ่มเส้นทางการจัดระเบียบสายสื่อสารให้มากขึ้น ดังนั้น จะเห็นถึงความคืบหน้าและเมืองที่เป็นระเบียบมากขึ้น โดยการไฟฟ้านครหลวงมีแผนบูรณาการจัดระเบียบสายสื่อสารเป็นระยะทางทั้งสิ้น 450 กิโลเมตร
ซึ่งรับผิดชอบในการติดตั้งคอนสายสื่อสาร เพื่อใช้สำหรับการยึดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า ควบคุมให้ติดตั้งสายสื่อสารตามมาตรฐาน และเป็นไปตามหลักเกณฑ์การติดตั้งสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง รวมถึงจะมีการบันทึกข้อมูลของสายสื่อสาร และแผนผังเส้นทางที่ติดตั้งสายสื่อสารในแผนที่ภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GIS) เพื่อบริหารจัดการในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การจัดระเบียบสายสื่อสารในครั้งนี้จะทำให้บ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น โดยเฉพาะถนนเจริญกรุง ซึ่งคาดว่าจะตัดสายสื่อสารหมดประมาณ 4 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ต่อจากนั้นจะดำเนินการต่อที่ศาลาแดง ถนนคอนแวนต์ ซอยพิพัฒน์ และส่วนต่อไป คือ ถนนสุขุมวิท ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วที่ซอย 13 และในเดือนหน้ากรกฎาคม 2566 จะดำเนินการที่ซอย 11, 15, 17, 19 และซอย 36 ต่อไป
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส