นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรด้วยการติดตั้งระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรเป็นพื้นที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือ Bangkok Area Traffic Control Project (BATCP) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการบริหารจัดการจราจรด้วยระบบอัจฉริยะ เพื่อปรับปรุงสภาพการจราจรในกรุงเทพมหานครอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
โดยริเริ่มนำร่องโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรด้วยการติดตั้งระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรเป็นพื้นที่ หรือ Area Traffic Control (ATC) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่บนถนนหลัก 4 สาย ได้แก่ ถนนพระราม 6 ถนนราชวิถี ถนนพหลโยธิน และถนนประดิพัทธ์ ซึ่งมีระบบสัญญาณไฟจราจรทางแยก 13 แห่ง และสัญญาณไฟทางข้ามอีก 4 แห่ง โดยมีศูนย์ควบคุมกลางตั้งอยู่ที่สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร
ระบบ ATC ที่นำมาติดตั้งในพื้นที่โครงการนำร่องนี้ เป็นการใช้เซนเซอร์เก็บข้อมูลสภาพจราจรในพื้นที่ผ่านเครื่องตรวจจับยานพาหนะแบบ Ultrasonic และกล้อง CCTV ที่คอยตรวจจับสภาพการจราจรแบบเรียลไทม์ โดยอุปกรณ์ตรวจจับเหล่านี้จะส่งข้อมูลที่รวบรวมได้ผ่านเครือข่ายใยแก้วนำแสงไปยังศูนย์ควบคุมการจราจร
จากนั้นจะใช้อัลกอริทึมขั้นสูง เรียกว่า “MODERATO” วิเคราะห์ข้อมูลการจราจรและคำนวณเวลาสัญญาณไฟที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสัญญาณไฟจราจรในพื้นที่นำร่อง โดยคำนึงถึงปริมาณการจราจร ระดับความติดขัด และปรับเวลาสัญญาณไฟให้เหมาะกับสภาพการจราจรในพื้นที่แบบเรียลไทม์ ซึ่งจะถูกส่งกลับไปยังสัญญาณไฟจราจรแต่ละแยกผ่านเครือข่ายใยแก้วนำแสง เพื่อให้สัญญาณไฟเขียวที่ดีที่สุด
ระบบดังกล่าว นอกจากจะเป็นตัวช่วยสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นแล้ว ตัวระบบยังสามารถเก็บรักษาบันทึกข้อมูลการจราจรและข้อมูลการทำงานของสัญญาณไฟจราจร เพื่อให้นำไปใช้วิเคราะห์และปรับปรุงในอนาคตได้อีกด้วย
“การจราจรเป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ เพราะหากรถไม่ติด ชีวิตของประชาชนจะมีเวลากลับคืนมามากขึ้น ได้ใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัว ซึ่งจากการทดลองใช้งานจะเห็นว่าถนนพหลโยธินการจราจรดีขึ้นประมาณ 15% อาจจะยังมีติดขัดอยู่บ้างแต่รถก็สามารถเคลื่อนตัวไปได้เรื่อย ๆ” นายชัชชาติกล่าว
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยังระบุอีกว่า ต่อไปจะเป็นการขยายผลดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในและจุดที่มีการจราจรติดขัดก่อน ซึ่งปัจจุบัน กทม. มีทั้งหมด 500 สัญญาณไฟ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่าในอนาคตจะขยายผลอย่างไรให้ครอบคลุมทั้งหมด หากทำได้ ตนเชื่อว่าจะทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรทำงานได้ง่ายขึ้น
สำหรับการใช้งบประมาณนั้น ปัจจุบันมีเทคโนโลยี คือ เครื่องตรวจจับยานพาหนะแบบ Ultrasonic และกล้อง CCTV ซึ่ง กทม. จะพยายามหาเทคโนโลยีใหม่ เช่น การใช้ข้อมูลจาก GPS เพื่อตรวจสอบปริมาณรถแทน และคาดว่าจะใช้งบประมาณได้น้อยลง เนื่องจากไม่ต้องติดตั้งเซนเซอร์และ กทม. มีเครือข่ายไฟเบอร์ออปติกอยู่แล้ว ดังนั้น การส่งสัญญาณต่าง ๆ ก็จะสามารถส่งผ่านไฟเบอร์ออปติกนี้ได้เลย อย่างไรก็ตาม ระบบดังกล่าวยังคงอยู่ในขั้นทดลอง ซึ่งประเทศญี่ปุ่นกำลังดำเนินการอยู่
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส