ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยผ่านรายการ Thailand Today ทางช่อง Mcot ถึงภาพรวมสถานการณ์การบินระบุว่า ในช่วง 8 เดือนของปีงบประมาณ 2566 (1 ตุลาคม 2565 – 31 พฤษภาคม 2566) สนามบินทั้ง 6 แห่งของ AOT มีปริมาณการจราจรทางอากาศรวม 66.38 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 170.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565
พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าปริมาณผู้โดยสารในปีงบประมาณ 2566 จะกลับมาที่ประมาณ 95,000,000 คนต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 142,000,000 คนต่อปีในปี 2567 หรือเทียบเท่ากับก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
AOT จึงเตรียมแผนรองรับผู้โดยสารด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาให้บริการ ได้แก่ เครื่อง CUSS (common use self service) ให้ผู้โดยสารสามารถเช็กอินด้วยตนเอง และเครื่อง CUBD (common use bag drop) สำหรับให้ผู้โดยสารสามารถโหลดกระเป๋าสัมภาระได้เอง และระบบส่งคืนถาดใส่สัมภาระอัตโนมัติ (automatic return tray system : ARTS)
โดยเริ่มทยอยติดตั้งแล้วและพร้อมให้บริการเต็มรูปแบบตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2566 นี้เป็นต้นไป และผู้โดยสารสามารถเช็กอินล่วงหน้าได้ถึง 5 ชั่วโมงสำหรับสนามบินสุวรรณภูมิ โดยไม่ต้องรอเคาน์เตอร์เช็กอินเปิด ซึ่งเทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยแก้ปัญหาความคับคั่งในการรอต่อคิว ณ เคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสาร และบริเวณจุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แก้ไขปัญหาความแออัดของผู้โดยสารบริเวณจุดตรวจหนังสือเดินทาง โดยมีแผนจะติดตั้งเครื่อง auto channel หรือ auto gate เพื่อให้บริการผู้โดยสารขาออก ซึ่งรองรับ e-Passport ได้ 90 ประเทศทั่วโลก
ส่วนผู้โดยสารขาเข้านั้น นอกจากผู้โดยสารชาวไทยแล้ว ประเทศไทยได้ลงนามความร่วมมือในด้านการผ่านเข้าประเทศกับสิงคโปร์ และฮ่องกง ให้สามารถใช้บริการ auto channel ได้ด้วยเช่นกัน
โครงการเริ่มนำร่องให้บริการที่สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง โดยจะทยอยติดตั้งและให้บริการได้ในปี 2567 ซึ่งจะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิสามารถรองรับผู้โดยสารขาออกจาก 6,200 คนต่อชั่วโมง เป็น 8,800 คนต่อชั่วโมง และรองรับผู้โดยสารขาเข้าจาก 11,000 คนต่อชั่วโมง เป็น 13,300 คนต่อชั่วโมง
ขณะที่สนามบินดอนเมืองจะสามารถรองรับผู้โดยสารขาออกจาก 3,000 คนต่อชั่วโมง เป็น 3,600 คนต่อชั่วโมง และผู้โดยสารขาเข้าจาก 3,100 คนต่อชั่วโมง เป็น 3,600 คนต่อชั่วโมง ซึ่งจะช่วยลดเวลาในการใช้บริการของผู้โดยสารตั้งแต่เคาน์เตอร์เช็กอิน ผ่านจุดตรวจค้น ผ่านด่าน ตม. โดยมีเป้าหมายไม่ให้เกิน 45 นาที สำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ และไม่เกิน 30 นาที สำหรับผู้โดยสารภายในประเทศ
ล่าสุดมีแผนนำระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (automated biometric identification system) เทคโนโลยี facial recognition (สแกนใบหน้า) เพื่อใช้ในการระบุตัวตนของผู้โดยสาร ผู้โดยสารที่มาเช็กอินที่เคาน์เตอร์เช็กอินปกติ หรือที่เครื่อง CUSS หากผู้โดยสารให้การยินยอมใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล ระบบ biometric จะนำข้อมูลใบหน้าผู้โดยสารผสานรวมกับข้อมูลการเดินทางของผู้โดยสาร สร้างเป็นข้อมูลสำหรับใช้ในการตรวจสอบยืนยันตัวตน เรียกว่าข้อมูล One ID
เมื่อดำเนินการสำเร็จ ผู้โดยสารจะใช้เพียงใบหน้าสแกนเพื่อโหลดกระเป๋าสัมภาระที่เครื่อง CUBD รวมถึงใช้ยืนยันตัวตนแทนการใช้ boarding pass ณ จุดตรวจค้น และในขั้นตอนการตรวจบัตรโดยสารก่อนขึ้นเครื่อง ณ ประตูทางออกขึ้นเครื่องด้วย โดยทุกขั้นตอนไม่ต้องแสดงหลักฐานตั๋วโดยสารและบัตรประชาชน
โดยระบบ biometric ใช้เวลาน้อย มีความแม่นยำสูง และช่วยลดระยะเวลาในการรอคิวในการตรวจสอบแต่ละจุดให้บริการ ซึ่งขณะนี้ AOT ได้ติดตั้ง พัฒนาและอยู่ระหว่างทดสอบระบบร่วมกับสายการบิน คาดว่าจะมีความพร้อมให้บริการในช่วงกลางปี 2567
ที่มา : Thailand Today
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส