วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. กรณีถือครองหุ้นสื่อไอทีวี และขอให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวนั้น
ทางด้าน นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงด่วนหลังเสร็จสิ้นการประชุมสภาฯ ว่า มติของ กกต. ดังกล่าว ดำเนินการไม่ถูกต้องตามขั้นตอนที่ควรจะเป็นตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งอาจเข้าข่ายละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157
เลขาธิการพรรคก้าวไกลระบุว่า ในประเด็นนี้ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เคยอธิบายว่า คดีนี้เป็นการดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 มิใช่การดำเนินการสืบสวนไต่สวนเกี่ยวกับกฎหมายการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ซึ่งจะต้องเป็นไปตามระเบียบที่ต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อ นายพิธา ก่อน
และในกรณีที่ กกต. เห็นว่าสมาชิกภาพของ ส.ส. คนใดมีเหตุสิ้นสุดลง ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้ สอดคล้องกับแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีที่ผ่านมา ซึ่งหมายถึงคดีเงินกู้ยุบพรรคอนาคตใหม่
ทั้งนี้ เลขาธิการพรรคก้าวไกลเห็นว่า เมื่อพิจารณาระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว สิ่งที่ ประธาน กกต. กล่าวนั้นไม่ถูกต้องด้วยเหตุผลอย่างน้อย 2 ข้อ คือ (1) คดีเงินกู้ยุบพรรคอนาคตใหม่ เป็นกรณีที่กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 93 กำหนดให้นายทะเบียนพรรคการเมืองรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อ กกต. เพื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
แต่คดีถือครองหุ้นสื่อไอทีวีในครั้งนี้ ถูกดำเนินการตามมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงไม่อาจนำแนวทางการตีความของศาลรัฐธรรมนูญในคดีเงินกู้มาใช้กับคดีถือครองหุ้นสื่อไอทีวีได้
เหตุผลข้อที่ 2 คือ ในคดีตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดีเงินกู้ยุบพรรคอนาคตใหม่ เป็นกรณีที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนของ กกต. มีมติว่า ข้อกล่าวหาไม่มีมูล แล้วนำเสนอต่อ กกต. แต่ปรากฏว่า กกต. ไม่เห็นพ้องด้วย กรณีจึงไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาต่อพรรคอนาคตใหม่แต่อย่างใด
แต่คดีถือครองหุ้นสื่อไอทีวีในครั้งนี้ ถ้าคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนของ กกต. มีความเห็นว่าข้อเท็จจริงมีมูลตามคำร้อง ย่อมมีหน้าที่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาต่อ ายพิธา ให้ครบถ้วน ก่อนที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนจะทำรายงานการสืบสวนเสนอต่อเลขาธิการ กกต. และ กกต. ต่อไป
ดังนั้น การที่ กกต. เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหามายัง นายพิธา โดยระบุว่าเป็นเพียงการตรวจสอบข้อเท็จจริงเท่านั้น เลขาธิการพรรคก้าวไกลเห็นว่า เป็นการเลือกปฎิบัติของ กกต. และไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจเข้าข่ายละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157
เลขาธิการพรรคก้าวไกลทิ้งท้ายว่า ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร ทั้ง 8 พรรคร่วมรัฐบาลยืนยันว่าจะไม่กระทบการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (13 ก.ค. 66)
ล่าสุด แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญเปิดเผยว่า กรณีคำร้องของ กกต. ที่ขอให้วินิจฉัย สมาชิกภาพ ส.ส. ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นั้น ตามกระบวนการพิจารณาแล้วยังไม่สามารถนำเข้าที่ประชุมของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ได้ (12 ก.ค. 66)
โดยจะต้องดำเนินการเหมือนคำร้องปกติ คือ ต้องมีการตรวจว่าคำร้องถูกต้องหรือไม่ และสมควรรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อให้เกิดความรอบคอบ ก่อนที่จะส่งความเห็นไปยังคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส