วันที่ 3 สิงหาคม 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายสุรัช ติระกุล ผู้อำนวยการสํานักงานควบคุมอาคาร ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงแนวทางการดำเนินการกับโครงการแอชตัน อโศก ซึ่งพัฒนาโดย บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ภายหลังศาลปกครองมีคําสั่งเพิกถอนใบอนุญาตการก่อสร้าง

นายชัชชาติ เปิดเผยว่า กทม. น้อมรับคำสั่งศาลและต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ส่วนแนวทางดำเนินการหลังจากนี้จะยึดตามกฎหมายมาตรา 41 ซึ่งระบุว่า สามารถแก้ไขปรับเปลี่ยนอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ โดยให้ระยะเวลา 30 วัน ซึ่งทาง กทม. จะต้องเชิญ อนันดา เอ็มเอฟฯ ผู้พัฒนาโครงการแอชตัน อโศก และผู้เกี่ยวข้องมาร่วมหารือว่า จะสามารถปรับปรุงและแก้ไขตามที่กฎหมายกําหนดได้หรือไม่

ในกรณีที่ไม่สามารถปรับปรุงและแก้ไขตามที่กฎหมายกําหนดได้ นายชัชชาติ ระบุว่า กทม. อาจจะขยายระยะเวลาให้ได้ตามเหตุอันสมควร ซึ่งขอยืนยันว่าเป็นการทำตามกฎระเบียบและไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ใคร ทั้งนี้ คําพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดมีคําสั่งเพิกถอนใบอนุญาตการก่อสร้าง ไม่ใช่การรื้อถอน ดังนั้น กทม. จึงต้องให้โอกาสผู้พัฒนาโครงการยื่นขอใบอนุญาตใหม่ เพื่อความเป็นธรรมของทุกฝ่าย

Ashton Asoke condo move raises eyebrows

ทางด้าน นายวิศณุ เปิดเผยว่า การพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างของโครงการแอชตัน อโศก ทาง กทม. พิจารณาตามกฎกระทรวง ซึ่งในช่วงการยื่นแจ้งก่อสร้างโครงการฯ กทม. ได้แจ้งข้อทักท้วงเรื่องแบบแปลนและที่ดิน รฟม. เป็นครั้งแรกในปี 2558 และมีการยื่นต่อมาอีกในระหว่างปี 2558 – 2559 รวม 3 ครั้ง จนกระทั่งเกิดการฟ้องร้องในปี 2559

ภายหลังการก่อสร้างเสร็จ ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 อนันดา เอ็มเอฟฯ ยื่นข้อทักท้วงต่อ กทม. โดยยืนยันว่า รฟม. อนุญาตให้โครงการแอชตัน อโศก ใช้ที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้า – ออกได้ ทาง กทม. จึงได้ทักท้วงอีกครั้ง เนื่องจากทางเข้า – ออกของโครงการฯ ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกําหนด ทาง อนันดา เอ็มเอฟฯ จึงยื่นอุทธรณ์ไปยังกรรมการควบคุมอาคาร ซึ่งกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่า กทม. ควรออกใบอนุญาตให้ ทาง สํานักการโยธา จึงออกใบอนุญาตให้แบบมีเงื่อนไข ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2561

  • Ashton Asoke condo move raises eyebrows
  • Ashton Asoke condo move raises eyebrows

โดยเงื่อนไขของ กทม. ระบุว่า ที่ดินที่ตั้งโครงการแอชตัน อโศก ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ที่มีผู้ฟ้องคดีกรณีโครงการใช้ที่ดินของ รฟม. ผ่านเข้า – ออกนั้น หากศาลปกครองมีคําพิพากษาสิ้นสุดแล้ว และผลพิจารณาทําให้อาคารดังกล่าวขัดต่อกฎหมาย ผู้ได้ใบรับรอง (อนันดา เอ็มเอฟฯ) จะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อตนเองและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งต้องดําเนินการแก้ไขอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารต่อไป

นายชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับลูกบ้านของโครงการแอชตัน อโศก ยังสามารถใช้ทางเข้า – ออกของโครงการฯ ได้ตามปกติ เนื่องจากตัวอาคารไม่ได้มีปัญหาเรื่องความปลอดภัย ส่วนกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้นั้น รถดับเพลิงยังสามารถเข้าไประงับเหตุได้ผ่านทางเข้า – ออกของโครงการฯ ในปัจจุบัน จึงไม่มีความจำเป็นต้องสั่งปิดอาคารแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า หลังจากนี้จะมีการนำโครงการแอชตัน อโศก มาใช้เป็นกรณีศึกษาการก่อสร้างคอนโดมิเนียมบริเวณรอบสถานีรถไฟฟ้าในอนาคต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ซํ้ารอยอีก

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส