นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในช่วงวันแม่ 12 สิงหาคม 2566 คาดว่าเม็ดเงินจะสะพัด 10,632 ล้านบาท โดยปรับลดลง 2.3% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่เงินสะพัด 10,883 ล้านบาท

ทั้งนี้ การลดลงดังกล่าวนับเป็นครั้งที่ 2 ตั้งแต่เริ่มสำรวจในปี 2552 โดยครั้งแรก คือ ปี 2563 ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีเงินสะพัด 9,984 ล้านบาท ลดลง 28%

นายธนวรรธน์ระบุว่า เงินสะพัดที่ลดลงเป็นผลมาจากประชาชนมีความระมัดระวังในการจับจ่ายมากขึ้น และเกิดจากเพิ่งผ่านช่วงวันหยุดยาว 6 วัน ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายในวันแม่ปีนี้ ยังคึกคักใกล้เคียงกับปี 2565 ที่มีเงินสะพัด 10,883 ล้านบาท ขยายตัว 9%

นายวาทิตร รักษ์ธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนเกี่ยวกับวันแม่ โดยสำรวจระหว่างวันที่ 2 – 5 สิงหาคม 2566 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,250 คนทั่วประเทศ

mother day's money

ผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างจำนวน 60.9% ตอบว่าจะไปพบแม่ในช่วงวันแม่ ขณะที่อีก 39.1% ตอบว่าไม่ได้ไป ส่วนกิจกรรมที่กลุ่มตัวอย่างวางแผนที่จะทำให้แม่ในปีนี้ อันดับ 1 คือ พาแม่ไปทานข้าว, อันดับ 2 ทำกิจกรรมร่วมกัน, อันดับ 3 พาแม่ไปทำบุญ, อันดับ 4 พาแม่ไปเที่ยวต่างจังหวัด (ค้างคืน) และอันดับ 5 พาแม่ไปทำกิจกรรมนอกบ้าน

สำหรับของขวัญยอดนิยมที่ตั้งใจจะซื้อให้ในวันแม่นั้น กลุ่มตัวอย่างตอบว่า อันดับ 1 คือ พวงมาลัยหรือดอกไม้ รองลงมาคือ เงินสด-ทองคำ, เครื่องนุ่งห่ม-รองเท้า, เครื่องดื่มบำรุงร่างกาย และเครื่องใช้ไฟฟ้า (ตามลำดับ)

asian-mother-daughter-hugging

ในส่วนของงบประมาณการใช้จ่ายในช่วงวันแม่ปี 2566 กลุ่มตัวอย่างจำนวน 42.7% ตอบว่างบประมาณไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อน ในขณะที่ 36.8% ตอบว่า งบประมาณลดลง เนื่องจากต้องประหยัดมากขึ้น มีภาระเพิ่มขึ้น เป็นหนี้มากขึ้น และเศรษฐกิจยังไม่ดี ส่วนกลุ่มตัวอย่างอีก 20.6% ตอบว่ามีงบประมาณใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นวันพิเศษ, คาดว่าเศรษฐกิจกำลังจะดีขึ้น และมีรายได้เพิ่มขึ้น

ที่มา : ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส