สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนจะไม่เปิดเผยอัตราการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่ หรือผู้ที่มีอายุระหว่าง 16 – 24 ปี นับตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป จนกว่าจะมีการปรับปรุงวิธีการสำรวจข้อมูลดังกล่าว เนื่องจากมีข้อถกเถียงว่า สถิติแรงงานควรนับรวมนักศึกษาที่หางานได้ก่อนสำเร็จการศึกษาหรือไม่ ซึ่งจำเป็นต้องทำการวิจัยเพิ่มเติม
ซึ่งการประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนการรายงานอัตราการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่ของเดือนกรกฎาคม ปี 2023 ทำให้คาดการณ์ได้ว่า จะไม่มีการรายงานข้อมูลของเดือนกรกฎาคมด้วยเช่นกัน เนื่องจากตัวเลขดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและตลาดการลงทุน เพราะถูกใช้เป็นสัญญาณของเศรษฐกิจที่อ่อนแอ เนื่องจากนายจ้างเลิกจ้างงาน
อัตราการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่ในจีนกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2022 ที่ผ่านมา เนื่องจากการปราบปรามภาคเทคโนโลยี ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างงานและความมั่งคั่งให้กับคนหนุ่มสาวชาวจีนจำนวนมาก โดยข้อมูลล่าสุด ณ เดือนมิถุนายน ปี 2023 อยู่ที่ 21.3% หรือคิดเป็นนักศึกษาจบใหม่ 1 ใน 5 คน ต้องประสบกับการว่างงานในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก
นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร UBP มองว่าอัตราการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่จะเพิ่มขึ้นอีกในฤดูร้อนนี้ (เดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม) เนื่องจากผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะพากันหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นจำนวนมาก และการปิดกั้นข้อมูลนี้จากนักลงทุนต่างชาติอาจส่งผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจ และตลาดการลงทุน
นอกเหนือจากการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจและตลาดการลงทุนแล้ว นักเศรษฐศาสตร์ยังมองอีกว่า การไม่เปิดเผยอัตราการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่ อาจเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลจีนต้องการรักษาเสถียรภาพทางสังคมและลดความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลและนักศึกษา เนื่องจากในปี 2022 ที่ผ่านมา เกิดการประท้วงทั่วประเทศ เพื่อต่อต้านกฎระเบียบในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีแกนนำเป็นนักศึกษา โดยบางคนเรียกร้องให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ลงจากตำแหน่ง
ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์จาก Natixis ระบุว่า การไม่เปิดเผยอัตราการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่นั้น อาจเป็นเรื่องใหญ่กว่าการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจและตลาดการลงทุน เพราะแม้ว่าจะมีการปรับปรุงวิธีการสำรวจข้อมูลดังกล่าว และเปิดเผยตัวเลขออกมาอีกครั้งในอนาคต รัฐบาลจีนจะทำอย่างไรเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับมา โดยเฉพาะประเด็นความโปร่งใสของข้อมูลที่มาจากรัฐบาลจีน
ที่มา : Yahoo Finance
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส