ธนาคารกรุงไทย เปิดเกมรุกตลาดสินเชื่อดิจิทัล เพิ่มช่องทางเข้าถึงสินเชื่อ ‘กรุงไทยใจป้ำ’ ผ่านแอปฯ เป๋าตัง ช่วยคนไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้สะดวก รวดเร็ว
ธนาคารกรุงไทย มีนโยบายรุกตลาดสินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) อย่างต่อเนื่อง ให้สอดคล้องกับชีวิตยุคใหม่ที่ต้องการความเร็ว สะดวก และไม่ต้องเดินทางได้เป็นอย่างดี ซึ่งในปี 2565 ธนาคารให้บริการสินเชื่อกรุงไทยใจป้ำ ผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT โมบายแบงกิ้งที่ให้บริการแบบครบวงจร และสามารถขยายบริการของธนาคารในรูปแบบดิจิทัลได้อย่างก้าวกระโดด โดยได้รับการตอบรับดีจากกลุ่มผู้มีรายได้ประจำ และผู้ประกอบการรายย่อย โดยปี 2566 ตั้งเป้าสินเชื่อดิจิทัล ประมาณ 10,000 ล้านบาท
จุดเด่นของสินเชื่อกรุงไทยใจป้ำ คือ กู้ง่าย ไม่มีบัญชีเงินเดือนกับกรุงไทยก็กู้ได้ เพียงเปิดบัญชีออมทรัพย์ “เป๋ามีตัง” ผ่านแอปฯ เป๋าตัง โดยไม่มีกำหนดเงินฝากขั้นต่ำ อนุมัติไว ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน กรณีได้รับอนุมัติสินเชื่อ และกดยอมรับสินเชื่อในเวลาทำการของธนาคาร จะได้รับเงินโอนเข้าบัญชีทันที ได้เงินก้อน วงเงินสูงสุด 5 เท่าของรายได้ต่อเดือน และผ่อนสบาย เฉลี่ยหมื่นละ 10 บาทต่อวัน นานสูงสุด 60 เดือน สำหรับอัตราดอกเบี้ย บุคคลทั่วไปที่มีรายได้ประจำ อัตราดอกเบี้ย 20% ต่อปี ผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไป อัตราดอกเบี้ย 22% ต่อปี
ทั้งนี้ เพื่อให้คนไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้สะดวกยิ่งขึ้น ธนาคารจึงเพิ่มช่องทางการสมัครสินเชื่อกรุงไทยใจป้ำ ผ่านแอปฯ เป๋าตัง ซึ่งเป็น Thailand Open Digital Platform ที่คนไทยคุ้นเคย เข้าถึงได้ง่าย ตอบโจทย์ผู้ใช้งานกว่า 40 ล้านคน ด้วยการออกแบบขั้นตอนในแอปฯ ให้ใช้งานง่าย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ยุคดิจิทัล และช่วยลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการทางการเงิน ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เป็นการตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Goals) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ได้แก่ เป้าหมายส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน (Decent Work and Economic Growth) และเป้าหมายลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ (Reduced Inequalities)
ปัจจุบัน KTB มีแผนรองรับให้เกิดการ Active ตลอดเวลา โดยช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 รายได้ จากเป๋าตังคิดเป็นสัดส่วน 1% – 3% ของรายได้ค่าธรรมเนียมฯ ขณะที่มาตรการ พักชำระหนี้เกษตร น่าจะเป็นหน้าที่ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) ที่มีฐาน ลูกค้าเกษตรกรมากกว่า
ที่มา : krungthai
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส