ค่อนข้างเป็นที่แน่นอนแล้วว่านายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย จะได้ เศรษฐา ทวีสิน มาดำรงตำแหน่ง ซึ่งพ่วงมาพร้อมกับพรรคเพื่อไทยที่จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้ โดยในรายการ ‘หนุ่ยทอล์ก’ ออกอากาศเมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีการพูดถึงประเด็น ‘เศรษฐามา พาเศรษฐกิจรุ่ง?’ วิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในยุคของเศรษฐา โดยมีการเชิญผู้มีความรู้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงนโยบายดังกล่าว ได้แก่ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ เจ้าของช่อง Sirotetalk และประกิต สิริวัฒนเกตุ นักกลยุทธ์การลงทุน กรรมการผู้จัดการ บลจ.เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ และนี่คือความเห็นของแขกทั้ง 2 ท่านต่อประเด็นเศรษฐกิจในยุคของเศรษฐา
สิ่งที่ รัฐบาลเศรษฐา ไม่ควรทำ
ศิโรตม์ให้ความเห็นไว้ว่า เรื่องที่ ‘ไม่ควรทำ’ คือเรื่องนโยบายที่จะไปทำให้การผูกขาดมันดุเดือดมากขึ้นหรือนโยบายที่จะไปชะลอความเปลี่ยนแปลงของสังคม หรือแม้กระทั่งบางเรื่องก็มีปัญหา เช่น การประกาศผลักดันเศรษฐกิจของเพื่อไทย ทั้งดิจิทัลวอลเล็ต เรื่องของการเพิ่มงาน อัปเกรดคุณภาพคน หรืออะไรต่าง ๆ ซึ่งเรื่องนี้เหล่านี้ มีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อยที่จะทำให้มันสำเร็จภายในระยะเวลาสั้น ๆ
นายกฯ เศรษฐาคุมคลังเอง ไปรอดไหม
ศิโรตม์บอกว่า นั่นคือสิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะกระทรวงการคลังเป็นกระทรวงที่สำคัญ ส่วนใหญ่ผู้จัดตั้งรัฐบาลจะคุมกระทรวงนี้เอง เพราะเป็นเครื่องมือหลักในการบริหารนโยบาย ส่วนตัวคิดว่าเศรษฐาเป็นนักธุรกิจที่เก่ง แต่ไม่น่าจะเป็นนักการคลังที่เก่ง ซึ่งนี่ไม่ใช่สิ่งที่เศรษฐาฝึกฝนมาโดยตรง เพราะการบริหารธุรกิจกับการบริหารการคลังมันไม่เหมือนกัน
เรื่องที่ 2 คือสะท้อนให้เห็นว่าเพื่อไทยหาคนมาทำงานนี้ไม่ได้ เรื่องการบริหารการคลังเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ศิโรตม์ไม่เคยเห็นนายกฯ ที่ควบตำแหน่งการคลังเลยแม้แต่ครั้งเดียว สิ่งที่น่ากังวลคือไม่มีใครกล้ามารับตำแหน่งนี้ เพราะรู้ว่างานมันหนัก
ความเชื่อมั่นของประชาชน ทำให้นายกทำงานยากขึ้นไหม
ศิโรตม์ตอบชัดเจนว่า ยากขึ้น เพราะการเป็นรัฐบาลที่ประชาชนไม่ยอมรับ เท่ากับว่าการสร้างความน่าเชื่อถือของรัฐบาลจะเริ่มต้นจาก ‘ภาวะติดลบ’ เพราะอย่างนั้น รัฐบาลก็จะต้องทำงานบนความรู้สึกที่ประชาชนพร้อมจะด่าตลอดเวลา
ส่วนในแง่ของการบริหารก็คิดว่าน่าจะมีปัญหาแน่ เพราะต้องทำงานท่ามกลางประชาชนที่ไม่เป็นมิตรกับรัฐบาล (ยกเว้นคนบางกลุ่มที่เลือกเพื่อไทย) เพราะในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อไทยเป็นกลุ่มที่เลือกตั้งแพ้ ถ้าจะเป็นรัฐบาลที่ประสบความสำเร็จได้ จะต้องมี ครม. ระดับทีม Avengers ซึ่งถ้าดูตามโครงสร้างแล้วก็น่าจะไม่ใช่ทีม Avengers แน่ ๆ ซึ่งน่าเสียดายที่เราคงจะไม่ได้เห็นคนที่เก่งกว่าเข้ามาเป็นรัฐมนตรี
หลังได้รัฐบาลใหม่ ตลาดหุ้นเคลื่อนไปทิศทางไหน
อ.ปิง ประกิต สิริวัฒนเกตุ ให้ความเห็นไว้ว่าหลังได้รัฐบาลใหม่ ตลาดหุ้นก็บวกไปอีกประมาณ 50 จุด ซึ่งตามปกติแล้วจะไม่ได้เป็นแบบนี้ เพราะส่วนใหญ่ตลาดจะคาดการณ์ไปก่อนแล้วผลที่ออกมาจะตรงกันข้าม แต่ครั้งนี้มีแต่แรงหนุนอย่างเดียว เพราะการเลือกนายกฯ ครั้งนี้เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เรียกว่าตลาดนิ่งมาก นิ่งจนถึงวันก่อนที่จะเลือกนายกฯ เลยด้วยซ้ำ
แต่ตลาดหุ้นกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้งช่วงที่ ทักษิณ ชินวัตร กลับประเทศไทย ซึ่งตลาดก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นทันทีโดยไม่ต้องรอผลการเลือกนายกฯ และหลังจากที่เศรษฐาได้รับผลโหวตให้เป็นนายกฯ แล้ว ตลาดหุ้นไทยก็ไปในทางบวกอีกครั้ง แม้ตลาดต่างประเทศจะลดลงค่อนข้างเยอะก็ตาม
ตลาดหุ้นไทยต้องการอะไรจากรัฐบาลใหม่
อ.ปิงบอกว่าต้องย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน ซึ่งมีผลตอบแทนในตลาดหุ้นที่ต่ำมาก (แค่ประมาณ 7% เท่านั้น) แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือ 5 ปีหลังนี้ ติดลบไปถึง 4% ซึ่งถือว่าย่ำแย่มาก ไม่ต้องไปเทียบกับประเทศยักษ์ใหญ่เลยที่เขาบวกกันที 100%-200% ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มันมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศที่ต่ำ และเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดว่าประเทศเรายังคงติดหล่มอยู่กับการเมือง เพราะประเทศยังคงไม่มีรัฐบาลที่สมบูรณ์แบบมาตลอด 17 ปี
แต่นี่นับเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี ที่ประเทศไทยได้นายกฯ ที่เป็นนักธุรกิจจริง ๆ มาบริหารประเทศอีกครั้ง ซึ่งจะเน้นการบริหารประเทศในเชิงธุรกิจ แต่ยังบอกไม่ได้ว่าประเทศจะไปดีเหมือนสมัย พรรคไทยรักไทย ไหม อันนี้ก็ต้องรอดูกันอีกที แต่มันยังเป็น ‘ความหวัง’ ให้กับประเทศได้
คาดการณ์เศรษฐกิจในยุครัฐบาลเศรษฐา
อ.ปิงให้ความเห็นว่าการบริหารประเทศก็คงจะไม่ได้เหมือนกับ 8 ปีที่ผ่านมา เพราะส่วนใหญ่ ประยุทธ์จะบริหารประเทศโดยอาศัยกลไกความร่วมมือกับราชการเป็นหลัก แต่ยุคเศรษฐาอาจจะใช้กลไกของภาคเอกชนมาช่วยมากขึ้น ดังนั้น การเติบโตของเศรษฐกิจอาจจะดีขึ้นกว่าเดิม บวกกับสิ่งที่ประยุทธ์ทำไว้ให้ เช่น โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่ก่อสร้างเอาไว้เยอะมาก ซึ่งเศรษฐาน่าจะหยิบไปทำให้มันออกดอกออกผลได้ และก็เชื่อว่าเศรษฐาน่าจะมีความคิดเชิงรุกที่ดีกว่าประยุทธ์ ซึ่งน่าจะบริหารประเทศไทยไปข้างหน้าได้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส