ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ระบุว่า SMEs ไทยมีส่วนต่อการจ้างงานถึง 71.7% ของการจ้างงานทั้งระบบ โดยประเทศไทยมี SMEs มากถึง 99.5% ของวิสาหกิจโดยรวม แต่ประเทศไทยกลับประสบปัญหาขาดแคลนธุรกิจที่มีศักยภาพ หรือ Missing Middle ทำให้ต้องเร่งเสริมสร้างวิสาหกิจขนาดกลาง ซึ่งเป็นตัวละครที่จะมีบทบาทหลักต่อการสร้าง GDP ของประเทศไทยในอนาคต
ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดขึ้นของงาน ‘The Secret Sauce Summit 2023: Infinite Growth ธุรกิจพุ่งทะยานในความเปลี่ยนแปลง’ อีเวนต์สำหรับผู้ประกอบการและนักธุรกิจ ซึ่งจัดโดยสำนักข่าว THE STANDARD เพื่อร่วมกันค้นหาเทรนด์ธุรกิจปี 2024 และยกระดับผู้ประกอบการแห่งศตวรรษที่ 21
วันที่ 9 กันยายน 2566 ถือเป็นวันแรกของการจัดงาน โดย นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ และบรรณาธิการบริหาร THE STANDARD ขึ้นกล่าวประเดิมเวทีเป็นคนแรก โดยระบุถึง 4 ปัญหาสำคัญที่ทำให้ SMEs ไทยไม่สามารถเติบโตได้ หรือไม่สามารถขยับจาก SMEs รายเล็กขึ้นมาเป็น SMEs ระดับกลางได้ ได้แก่
1. แหล่งเงินทุน
SMEs ไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้บริการทางการเงินของสถาบันการเงินในระบบได้เท่าที่ควร ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ไตรมาส 1 ปี 2564 สินเชื่อ SMEs จากธนาคารพาณิชย์มีมูลค่าสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 3.29 ล้านบาท หรือแค่ 19% จากวงเงินสินเชื่อทั้งระบบ ซึ่งหากเทียบกับต่างประเทศแล้ว ข้อมูลจาก Financing SMEs and Entrepreneur 2020: An OECD Scoreboard พบว่า สัดส่วนของสินเชื่อคงค้างของ SMEs ในปี 2560 ของเกาหลีใต้และมาเลเซียมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 80% และ 50% (ตามลำดับ)
2. หน่วยงานผลักดัน SMEs แบบต่างคนต่างทำ
ข้อมูลจาก สสว. ระบุว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีหน่วยงานส่วนกลางที่มีหน้าที่สนับสนุน SMEs มากกว่า 20 หน่วยงาน แต่มากกว่า 10 กระทรวงกลับพบว่าการดำเนินงานยังเป็นลักษณะต่างคนต่างทำและมีคนละเป้าหมาย
3. ช่องว่างระหว่าง ‘รัฐ’ กับ ‘เอกชน’
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ระบุว่า ผู้ประกอบการขนาดย่อย ซึ่งเป็น 81.9% มักไม่ค่อยเข้าสู่ระบบ โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการขาดแรงจูงใจ เช่น การออกนโยบายที่จะนำจำนวนธุรกรรมออนไลน์มาใช้ประเมินภาษี ทำให้ SMEs ลังเลที่จะใช้ e-Payment อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจนี้ส่งผลให้ความช่วยเหลือของภาครัฐอาจไม่ครอบคลุมไปถึงได้เช่นกัน
4. ขาดองค์ความรู้
โดยเรื่องแรก คือ องค์ความรู้ด้านดิจิทัล (Digital Literacy) เพราะยิ่งมีผู้ประกอบการที่ขาดทักษะดิจิทัลมากเท่าไร ในอนาคตก็อาจมีผู้ประกอบการที่จะตัดสินใจทำ Digital Transformation มากขึ้น ขณะเดียวกัน การขาดองค์ความรู้การบริหารและแต้มต่อของผู้ประกอบการ ก็ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถแข่งขันได้ เมื่อเทียบกับผู้เล่นรายกลางหรือรายใหญ่ได้ เนื่องจากไม่เห็นปัญหา ไม่มีกรณีศึกษาจริง ไม่มีเครือข่าย รวมถึงการเข้าไม่ถึงโซลูชันและเครื่องมือต่าง ๆ
นอกจากนี้ เพื่อปลุก Entrepreneurial Spirit หรือการสร้างจิตวิญญาณของผู้ประกอบการที่แท้จริงให้ SMEs ไทย บรรณาธิการบริหาร THE STANDARD ได้นำเสนอแก่นความคิด 5 ข้อ ซึ่งรวบรวมจากแนวคิดการบริหารธุรกิจของผู้บริหารและเจ้าของธุรกิจชั้นนำของเมืองไทย ได้แก่
- มองเห็นปัญหา มุ่งคว้าโอกาสที่จะทำให้ธุรกิจเติบโต
- กล้าเสี่ยงกับการทำธุรกิจ มีวิสัยทัศน์ในการกล้าทำสิ่งใหม่ ๆ เพื่อสร้างการเติบโต
- เล็งเห็นช่องว่างทางโอกาสในธุรกิจที่เสี่ยง แต่มีศักยภาพ สร้างผลกำไรได้
- ลงมือทำจริง วางกลยุทธ์ กำหนดแผน จัดสรรทรัพยากร เพื่อมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมาย
- มุ่งหน้าฝ่าฟันความท้าทายทางธุรกิจ เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกให้สังคม
งาน ‘The Secret Sauce Summit 2023: Infinite Growth ธุรกิจพุ่งทะยานในความเปลี่ยนแปลง’ จัดขึ้นตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 10 กันยายน 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ Ballroom Hall 1-2
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส