ฮัลโหล!! เย็นนี้ว่างปะ ไปกินหมูกระทะกัน
หมูกระทะ 1 เมนูยามว่าง ที่ไม่ว่าจะไปที่ไหน (ในประเทศไทย) ร้านหมูกระทะก็จะอยู่ข้าง ๆ เราเสมอ ด้วยกลิ่นที่ยั่วยวน บวกกับน้ำจิ้มแซ่บ ๆ ยิ่งได้กินตอนอากาศเย็น ๆ เรียกว่าฟินสุด ๆ กว่าที่หมูกระทะจะโด่งดังจนกลายเป็นซิกเนเจอร์ประจำชาติได้ขนาดนี้ จริง ๆ แล้วเมนูนี้ มีที่มาจากไหน แบไต๋บรีฟพาไปหาคำตอบ
หมวกเหล็กทหารมองโกล สู่เตาหมูกระทะ
ตำนานหมูกระทะ เล่ากันว่ามีมาตั้งแต่สมัยมองโกล ตอนนั้นทหารที่อยู่ในช่วงพักศึกสงครามเกิดอาการหิว แต่ไม่มีอุปกรณ์ทำครัว จึงหยิบเอาหมวกทหารที่ทำด้วยเหล็กมาใช้เป็นที่ย่างเนื้อ เพื่อกินเอาแรงให้อิ่มท้อง และหลังจากนั้นก็มีการออกแบบกระทะที่คล้ายกับหมวกทหาร โดยมีลักษณะโค้งมนตรงกลางอย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้
ความนิยมหมูกระทะที่ญี่ปุ่น
บันทึกแรกอย่างเป็นทางการของหมูกระทะ ถูกค้นพบเมื่อปี ค.ศ. 1918 ที่ประเทศญี่ปุ่น สมัยนั้นคนฮอกไกโดนิยมเลี้ยงแกะเพื่อเอาหนังไปทำเครื่องนุ่งห่ม จนทำให้เนื้อแกะล้นตลาด รัฐบาลญี่ปุ่นเลยส่งเสริมให้กินเนื้อแกะโดยนำมาปิ้งย่าง ก่อนจะถือกำเนิดร้านปิ้งย่าง ชื่อ ‘เจงกิสข่าน’ ขึ้นในปี 1936 ที่โตเกียว และกลายเป็นเมนูที่จักกันในชื่อ ‘เนื้อย่างเจงกิสข่าน’นอกจากเจงกิสข่านแล้ว ‘บูโกลกิ และ กัลบี้’ 2 เมนูปิ้งย่างของเกาหลี ก็ได้รับความนิยมอย่างมากในญี่ปุ่นเช่นกัน เห็นได้จากช่วงศตวรรษที่ 20 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ร้านอาหารปิ้งย่างส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นจะเรียกการเสิร์ฟเมนูนี้ว่า ‘โฮะโรมอนยากิ’ หรือเรียกสั้นๆ ว่า อาหารโชซอน
หมูกระทะจะช่วยเยียวยาทุกสิ่ง
หมูกระทะร้านแรกในไทย น่าจะเปิดตัวช่วง พ.ศ. 2500 โดยเริ่มจากการขายในภัตตาคาร ด้วยชื่อเนื้อย่างเจงกีสข่าน ส่วนในภาคอีสานจะเรียกว่า เนื้อย่างเกาหลี โดยที่ จ.อุบลราชธานี จะมีร้านต้นตำรับที่เรียกว่า “หมื่นทิพย์เนื้อย่างเกาหลี” ยุคแรกของหมูกระทะ จะใช้การเสิร์ฟแบบเป็นชุด ๆ ก่อนพัฒนามาเป็นหมูกระทะแบบบุฟเฟต์
ปัจจุบัน หมูกระทะ ไม่ได้เป็นเมนูยอดฮิตแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ ‘หมูกระทะ’ แบบไทย กลายเป็นความอร่อยที่ส่งออกไปทั่วโลก จนทำให้นักท่องเที่ยวจากประเทศต่าง ๆ พากันมาตามรอยปิ้งหมูกระทะ ถ่ายรูปอวดเพื่อนว่าฉันมาถึงประเทศไทยแล้ว
ที่มา : sites.google
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส