วันที่ 17 ตุลาคม 2566 สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการหารือกับคณะกรรมการหอการค้าฯ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในฐานะฝ่ายวิชาการ ถึงแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต (Digital Wallet) ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดและรับฟังเสียงสะท้อนจากทุกภาคส่วน เพื่อประกอบการปรับปรุงรูปแบบของโครงการให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาล
ตามหลักการแล้ว คณะกรรมการหอการค้าฯ มองว่า โครงการดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ รวมทั้งสนับสนุนแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจำเป็นต้องมีการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในมิติต่าง ๆ ไปพร้อมกันด้วย เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากรัฐบาลต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมาก ภายใต้สถานการณ์ที่ประเทศมีข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ ดังนั้น จึงจำเป็นที่ต้องใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์และมีความคุ้มค่าต่อเศรษฐกิจสูงสุด
โดยคณะกรรมการหอการค้าฯ มีแนวทางและข้อเสนอเพื่อให้รัฐบาลได้พิจารณา ประกอบการดำเนินมาตรการดังกล่าว ดังนี้
1. หอการค้าไทยเห็นว่า การวางโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินของประเทศเพื่อกระจายเม็ดเงินดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพ และตรงจุดเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ดังนั้น การพัฒนาระบบให้สามารถรองรับ และสนับสนุนนโยบายดังกล่าวภายใต้ระยะเวลาอันจำกัดเป็นภารกิจที่ท้าทายความสามารถของรัฐบาล
หอการค้าไทยจึงเสนอให้รัฐบาลใช้ระบบที่มีอยู่ของธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นธนาคารภายใต้กำกับของรัฐบาล ที่มีประชาชนลงทะเบียนยืนยันตัวตน และใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันแล้วถึง 40 ล้านคน (แอปพลิเคชันเป๋าตัง) ผนวกกับแพลตฟอร์มและวอลเลตที่หน่วยงานต่าง ๆ ได้พัฒนาจนประสบความสำเร็จเป็นลักษณะระบบ Hybrid เพื่อให้มีส่วนร่วมกับการสนับสนุนการชำระเงินดิจิทัลผ่านช่องทางต่าง ๆ เป็นเครื่องมือสำคัญที่พร้อมสนับสนุนนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลให้ทันได้ตามกำหนดเวลา
ทั้งนี้ รัฐบาลควรสนับสนุนให้เกิดการใช้จ่ายและลงทุนในทุกระดับ เน้นการซื้อสินค้าหรือบริการที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ ซึ่งภาคเอกชนที่เป็นช่องทางการจัดจำหน่าย พร้อมสนับสนุนให้สินค้าในชุมชนได้นำมาจำหน่าย โดยเชื่อว่าหากดำเนินการในลักษณะดังกล่าวจะเกิดการกระจายรายได้ และหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและหลายรอบ
2. ขอให้รัฐบาลเน้นการบริหารจัดการและพัฒนาประเทศในด้านอื่น ๆ ควบคู่ไปพร้อมกับการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อเพิ่มความสามารถทางการผลิต ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ อาทิ โครงการบริหารจัดการน้ำทางด้านชลประทาน โดยเฉพาะปัญหาเอลนีโญที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้และปีหน้า
ทั้งนี้ หากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มเกษตรกรที่ใช้น้ำถึง 72% ของการใช้น้ำทั้งหมด และเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดของประเทศ อีกทั้งจะมีครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้นกว่า 7 ล้านครัวเรือน ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันพบว่ามี 6 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม
ด้วยเหตุนี้การลงทุนด้านการบริหารจัดการน้ำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ให้เชื่อมโยงกันทั้งประเทศอย่างเป็นระบบ จะช่วยทำให้ภาคการเกษตรของไทยมีความมั่นคง สามารถยกระดับผลผลิตและรายได้ให้กับเกษตรกรได้มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกันนโยบายด้านการเกษตร และการลดความเหลื่อมล้ำของรัฐบาล ซึ่งในส่วนนี้จะช่วยภาคการผลิต และภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซากทุกปี
“เชื่อว่าจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ควบคู่กับมาตรการบริหารจัดการด้านอื่น ๆ และการบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืน รวมถึงการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด จะทำให้นโยบายเงินดิจิทัลของรัฐบาลประสบความสำเร็จ และเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนทั่วประเทศ” ประธานกรรมการหอการค้าไทยกล่าว
ทั้งนี้ หอการค้าไทยประเมินว่า โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต จะมีส่วนสนับสนุนการขยายตัวของ GDP ปี 2567 ได้มากถึง 5% ตามเป้าหมายที่รัฐบาลมุ่งหวังไว้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส