วันเสาร์ที่ 21-22 ตุลาคมที่ผ่านมานี้ คณะ Eifman Ballet จากเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กนำ ‘Anna Karenina’ ผลงานที่สร้างขึ้นจากบทประพันธ์สุดคลาสสิกของ เลโอ ตอลสตอย (Leo Tolstoy) จากบ้านเกิดมาสู่ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อปิดฉากงานมหกรรมฯ Bangkok International Festival of Dance and Music 2023 อย่างยิ่งใหญ่ กับครั้งแรกในประเทศไทยของคณะบัลเลต์ชื่อดังจากเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

‘Anna Karenina’ เป็นเรื่องราวของ อันนา คาเรนนินา หญิงสาวดาวเด่นของสังคมชั้นสูงในรัสเซียผู้เลือกตามหัวใจไปความความรักอันร้อนแรงกับ เคานท์ วรอนสกี้ ทั้งที่เธอนั้นมีครอบครัวแล้วจนนำไปสู่ตอนจบที่แสนเศร้า

บอริส ไอฟ์มาน (Boris Eifman) ผู้อำนวยการของคณะ นำเอาอารมณ์ซับซ้อนและความเปลี่ยนแปลงของตัวละคร อันนา คาเรนนินา และความสัมพันธ์รักสามเส้าในเรื่องมาคลี่คลายให้ผู้ชมเข้าใจได้ง่ายผ่านการเคลื่อนไหวที่มีชีวิตชีวา เด่นชัด และทรงพลัง จากตอนต้นที่อ่อนช้อยงดงาม ค่อย ๆ บิดเบี้ยวและแหลมคมมากทีละน้อยเมื่อเรื่องดำเนินไปจนถึงในช่วงหลัง เมื่อความสุขในชีวิตของอันนาเหือดหายไปพร้อมกับความรักของทั้งสอง

สิ่งที่น่าสนใจคือการรวมไลน์เต้นที่มีความสมัยใหม่ ซึ่งค่อย ๆ ผสมกับความคลาสสิกที่เปิดมาต้นเรื่องมากขึ้นเรื่อย ๆ จนดูคล้ายกับเป็นตัวแทนความคิดและทัศนคติของชีวิตที่เปลี่ยนไปของอันนาจนเปลี่ยนไปอย่างสมบูรณ์ในตอนสุดท้าย

การเคลื่อนไหวอันทรงพลังนั้นสอดประสานกับดนตรีของ ปิออตร์ ไชคอฟสกี (Pyotr Tchaikovsky) ที่เล่นคลออยู่ แต่สิ่งที่โดดเด่นไม่แพ้ท่าเต้นและยกที่โดดเด่นคือ ‘ฉาก’ ที่ออกแบบโดย ซิโนวี มาร์โกลิน (Zinovy Margolin) ที่ปิดทั้งองก์แรกและองก์สองด้วยรสหวานขมตรึงใจ ด้วยรถไฟและหิมะโปรยปรายที่กลายเป็นลางร้ายบอกถึงฉากสุดท้ายในชีวิตของอันนา ซึ่งเรียกเสียงปรบมือเกรียวกราวจากผู้ชม ด้วยการออกแบบฉากและแสง (โดย เกล็บ ฟิลช์ตินสกี – Gleb Filshtinsky) ที่น้อยแต่มากและชาญฉลาดเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้การออกแบบเครื่องแต่งกายโดย วยาเชสลาฟ โอคูเนฟ (Vyacheslav Okunev) ที่เล่าเรื่องด้วยการใช้สีที่แยกอันนาและวรอนสกี้ออกมาจากตัวละครตัวอื่น รวมถึงการนำกระโปรงมาเป็นส่วนหนึ่งของท่าเต้นในหลายฉากก็ทำให้งานดีไซน์ของบัลเลต์ชุดนี้น่าสนใจเช่นกัน

ถ้าใครกำลังมองหาการแสดงบัลเลต์แบบคลาสสิกที่เล่าเรื่องราวของนิยายของตอลสตอยแบบเต็ม ๆ อาจจะไม่รู้สึกอิ่มเท่าไหร่นัก เพราะเนื้อเรื่องที่ตัดทอนมาเหลือเพียงปมหลักของรักสามเส้าทำให้กระชับ เข้าใจง่าย แต่ถ่ายทอดออกมาโดยนักเต้นมากฝีมือกับท่าที่ซับซ้อน ทำให้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง ของการแสดงสององก์นั้นผ่านไปอย่างว่องไว และทำให้ ‘Anna Karenina’ เป็นอีกหนึ่งการแสดงบัลเลต์ที่น่าประทับใจไม่น้อยเลยทีเดียว

เรื่อง: วาดฝัน

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส