นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ในวันนี้ (25 ต.ค. 66) มีความเห็นให้ปรับเงื่อนไขการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต โดยให้สามารถใช้ได้ภายในอำเภอ จากเดิมแค่รัศมี 4 กิโลเมตร เนื่องจากเห็นว่า เป็นพื้นที่ไม่ใหญ่เกินไปและมีร้านค้าเพียงพอ

อย่างไรก็ดี รมช.คลัง ยอมรับว่า ยังมีความเห็นแตกต่างกันในที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ และยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ซึ่งจะต้องนำเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ประชุมตัดสินใจในสัปดาห์หน้า เพราะขณะนี้ยังมีมุมมองที่แตกต่าง

“มาตรการนี้ มีความคิดเห็นเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งก็ตั้งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องการให้คนเข้าร่วมจำนวนมาก อีกส่วน ก็มีข้อเสนอให้เอาคนรวยออก ซึ่งคณะทำงานก็ต้องพยายามหาคำจำกัดความของคำว่าคนรวย” นายจุลพันธ์กล่าว

รมช.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เตรียม 3 ทางเลือก เพื่อให้คณะกรรมการชุดใหญ่ได้ตัดสินใจ คือ

  1. ให้สิทธิเฉพาะผู้ยากไร้ จำนวนราว 15 – 16 ล้านคนทั่วประเทศ โดยใช้ฐานข้อมูลจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และใช้งบประมาณราว 150,000 ล้านบาท
  2. ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 25,000 บาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 100,000 บาทออก จะเหลือผู้ได้สิทธิ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 430,000 ล้านบาท
  3. ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 50,000 บาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 500,000 บาทออก จะเหลือผู้ได้สิทธิ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 490,000 ล้านบาท

สำหรับประเด็นการยืนยันตัวตนให้เป็นไปตามสิทธิ คือ ครอบคลุมทั้งบุคคลธรรมดา นิติบุคคล กองทุนหมู่บ้าน และวิสาหกิจชุมชน โดยใช้จ่ายในประเภทสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ส่วนระบบการขึ้นเงิน สามารถทำได้กับร้านค้าระบบภาษี 3 ประเภท ทั้งร้านค้าในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินได้นิติบุคคล และบุคคธรรมดา

รมช.คลัง ยอมรับว่าแนวโน้มการเริ่มใช้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตอาจจะล่าช้าออกไปในระดับหนึ่ง จากเดิมที่กำหนดไว้เป็นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 แต่ก็ทำให้มีเวลาเตรียมตัวมากขึ้นในเรื่องระบบความปลอดภัย และกระบวนการทดสอบระบบ พร้อมยืนยันว่า  เงินที่จะใช้ในโครงการนี้คาดว่าจะมาจากงบประมาณเป็นหลัก ไม่ได้ใช้เงินจากธนาคารออมสินแต่อย่างใด

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส