สำนักงานศาลปกครอง เผยแพร่รายละเอียดคำวินิจฉัย ซึ่งเป็นคดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นฟ้องขอเพิกถอนมติของ กสทช. ที่เกี่ยวเนื่องกับการควบรวมธุรกิจระหว่าง ‘ทรู’ และ ‘ดีแทค’ โดยถึงแม้การยื่นฟ้องจะพ้นกำหนดเวลาไปแล้ว แต่ดีลควบรวมครั้งนี้ส่งผลในวงกว้างและเกี่ยวกับประโยชน์โดยรวมของสาธารณะ ศาลปกครองสูงสุดจึงยังรับพิจารณาอยู่
ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้กลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ให้รับคำฟ้องไว้พิจารณาในคดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้อง กสทช. ให้เพิกถอนมติ เรื่องการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรู คอร์ปอเรชั่นจำกัด(มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) รวมทั้งประกาศและนิติกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2565
ส่วนระยะเวลาการฟ้องคดี แม้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะนำคดีมาฟ้องในช่วงที่พ้นกำหนดระยะไปแล้ว แต่บริการโทรคมนาคมเป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และด้วยข้อจำกัดเกี่ยวกับปริมาณคลื่นความถี่ที่มีจำนวนจำกัด อีกทั้งการลงทุนในการประกอบกิจการต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ตลาดหรืออุตสาหกรรมโทรคมนาคมจึงมีผู้ประกอบการจำนวนน้อยราย
ดังนั้น การควบรวมดังกล่าวอาจทำให้มีลักษณะเป็นการกึ่งผูกขาดโดยธรรมชาติ กระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม มีผลทำให้ผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบในวงกว้าง จึงถือได้ว่าการฟ้องคดีนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันเกิดแก่การจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง ศาลปกครองจึงสามารถกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น เปลี่ยนเป็นให้รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไปได้
ศาลปกครองสูงสุดระบุว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็น ‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ ซึ่งจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ์อันพึงได้ของผู้บริโภคและยังเป็นผู้ใช้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด จึงได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จึงถือเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจเดือดร้อนเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ซึ่งการจะแก้ไข บรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับนั้น จำเป็นต้องสั่งให้เพิกถอนมติของ กสทช.ดังกล่าว
ที่มา: สำนักงานศาลปกครอง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส