ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC ประเมินว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่ายอดขายเละยอดผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกในช่วงระหว่างปี 2022 – 2030 จะขยายตัวเฉลี่ยปีละ 20% และ 33% (ตามลำดับ) โดยได้รับแรงสนับสนุน 3 ข้อ ได้แก่
1. นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา อาทิ ไทย บราซิล และอินเดีย ที่ต่างมุ่งส่งเสริมการใช้งานและการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
2. การเปิดรับจากฝั่งผู้บริโภค โดยเฉพาะหลังเผชิญราคาพลังงานที่ผันผวน รวมถึงต้นทุนการเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าก็ทยอยลดลงต่อเนื่อง และคาดว่าในระยะยาวจะต่ำกว่ารถสันดาป เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและการบำรุงรักษาที่ถูกลง
3. การรุกตลาดของค่ายรถยนต์จีนที่ทำให้ตัวเลือกในตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งในด้านรูปลักษณ์ ฟังก์ชันการใช้งาน และระดับราคาที่เข้าถึงได้
จะเห็นได้ว่า กระแสนิยมและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้ผลิตยานยนต์สันดาปต้องเร่งปรับตัว โดย SCB EIC ได้ศึกษาแผนการลงทุนของบริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ทั่วโลกและพบว่า ค่ายรถจากฝั่งตะวันตก อาทิ BMW, Mercedes-Benz และ Volkswagen มีการเปลี่ยนผ่านที่เท่าทันกับกระแสรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความหลากหลายของโมเดลรถยนต์ไฟฟ้า และการพัฒนาแบตเตอรี่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในขณะที่เจ้าตลาดเดิมจากฝั่งตะวันออก เช่น Toyota, Honda และ Nissan กลับมีแนวทางการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ SCB EIC คาดว่า การแข่งขันในตลาดรถยนต์ทั่วโลกจะทวีความรุนแรง โดยกลุ่มผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนที่ปรับตัวได้ช้าจะเผชิญความเสี่ยงจากการสูญเสียส่วนแบ่งทางตลาด ขณะที่ผู้บริโภคจะได้รับอานิสงส์จากตัวเลือกในตลาดที่มีความหลากหลายมากขึ้น
เศรษฐกิจไทยในฐานะ EV Hub
เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขึ้นกล่าวปาฐกถา “The Big Change : Empowering Thailanld’s Economy” โดยระบุถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และการตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยกลายเป็น EV hub ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ควบคู่ไปกับการสนับสนุนอุตสาหกรรมอื่น ๆ
ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินว่า ทุก ๆ 100,000 คัน ของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ จะทำให้ GDP ของไทยเติบโตขึ้นราว 0.2% หรือประมาณ 26,000 ล้านบาท สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยในฐานะ EV Hub นั้น ไม่เพียงแต่จะมาจากภาคการส่งออกเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงกับมูลค่าเพิ่มจากภาคธุรกิจที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วน
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ายังคงมีความท้าทายอยู่ใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ (1) การเร่งพัฒนาระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั้งประเทศอย่างครบวงจร เพื่อลดการนำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วนจากต่างประเทศ รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มจากกิจกรรมการผลิตที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นเป็นหลัก
และประเด็นต่อมา (2) คือการส่งเสริมภาคธุรกิจให้สามารถปรับตัวและมีความพร้อมสำหรับโอกาสใหม่ ๆ โดยกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตไปพร้อม ๆ กับตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มอเตอร์ไฟฟ้า ยางล้อ และชุดสายไฟ ควรส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์
ทั้งนี้ กระแสนิยมและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าจะเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า แต่ก็ต้องยอมรับว่า สิ่งเหล่านี้จะทำให้กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์บางกลุ่มมีความต้องการที่ลดลง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบส่งกำลังและเชื้อเพลิง โดย SCB EIC คาดว่า มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมเหล่านี้จะปรับลดลง 3,800 ล้านบาท หรือราว 10% จากปี 2022 หากรถยนต์ไฟฟ้าสามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 15% ของยอดขายรถยนต์ทั่วโลกภายในปี 2025
ที่มา : SCB EIC
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส