วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่บริเวณซอยสุขุมวิท 64/1 เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร เพื่อตรวจสอบถนนที่ดินทรุดตัว ขณะรถบรรทุกวิ่งผ่าน
นายชัชชาติเปิดเผยว่า ผิวจราจรที่มีการทรุดตัวบริเวณซอยสุขุมวิท 64/1 เป็นบ่อของโครงการนำสายไฟฟ้าลงดินของการไฟฟ้านครหลวง (MEA) ซึ่งสามารถเปิด – ปิดได้ โดยช่วงเวลากลางวันจะถูกปิดเอาไว้ และเปิดเพื่อทำงานในเวลากลางคือ 22.00 – 05.00 น. ซึ่งฝาปิดจะเป็นแผ่นคอนกรีตหล่อที่วางปิดเป็นพื้นถนนไว้ โดยเป็นคนละรูปแบบกับที่เกิดเหตุบริเวณมักกะสัน
สำหรับสาเหตุของถนนที่ดินทรุดตัวในครั้งนี้ ยังไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการ แต่นายชัชชาติระบุว่า มีความเป็นไปได้หลัก 2 กรณี คือ รถบรรทุกคันดังกล่าวบรรทุกน้ำหนักเกินกำหนด และการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งการตรวจสอบในเบื้องต้นคำนวณพบว่า รถคันดังกล่าวบรรทุกน้ำหนักมาประมาณ 45 ตัน อย่างไรก็ตาม จะมีการตรวจสอบเพื่อหาสาเหตุโดยละเอียดต่อไป
สำหรับการเข้ามาวิ่งในกรุงเทพมหานครของรถบรรทุก นายชัชชาติเปิดเผยว่า ทุกคันมีที่มาที่ไป เช่นคันที่เกิดเหตุตรงนี้มาจากไซต์ก่อสร้างที่มีการขุดดินออก และกำลังขนดินออกไปถมที่พุทธมณฑล อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครไม่มีเครื่องชั่งน้ำหนักรถบรรทุก แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อาจจะต้องมีการติดตั้ง โดยขอความร่วมมือจากกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบทเข้ามาช่วยให้การสนับสนุน
ในเรื่องการตรวจสอบ กรุงเทพมหานครไม่ต้องการตั้งด่านบนถนน เพราะจะทำให้เกิดรถติดมาก จึงเน้นการตรวจที่ต้นทางมากกว่า เช่น แพลนต์ปูน ไซต์ก่อสร้าง ซึ่งการทำเช่นนี้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนน้อยกว่า และตอนนี้ได้กำหนดเงื่อนไขการก่อสร้างไปแล้วว่า หากไซต์ก่อสร้างไหนที่ใช้รถก่อสร้างที่มีควันดำ บรรทุกน้ำหนักเกิน ให้หยุดการก่อสร้างทันที จึงคาดว่าเป็นการป้องกันได้ส่วนหนึ่ง
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า ขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการคืนผิวจราจรบริเวณซอยสุขุมวิท 64/1 โดยจะมีการทยอยแบ่งดินจากรถบรรทุกที่ประสบอุบัติเหตุไปยังรถบรรทุกคันอื่น ๆ รวมถึงชั่งน้ำหนักเพื่อตรวจสอบสาเหตุให้แน่ชัด และหลังจากที่นำรถบรรทุกขึ้นแล้วเสร็จจะมีการปรับปรุงปากบ่อท่อร้อยสายไฟฟ้า และใส่คานรับน้ำหนัก 2 คาน จากเดิม 1 คาน เพื่อให้พี่น้องประชาชนที่สัญจรผ่านมั่นใจในความปลอดภัย
ทั้งนี้ หากสามารถคาดการณ์เวลาที่จะสามารถเปิดการสัญจรได้จะมีการประชาสัมพันธ์จากทางกรุงเทพมหานครอีกครั้งหนึ่ง
“ในส่วนของหลุมอื่น ๆ 700 กว่าหลุมที่มีการนำสายไฟฟ้าลงดิน กรุงเทพมหานครต้องขอความร่วมมือให้การไฟฟ้านครหลวงเป็นผู้ตรวจสอบ เพราะไม่ใช่งานของกรุงเทพมหานคร สำหรับการนำสายไฟฟ้าลงดินเป็นโครงการที่ทำเพื่อให้เมืองมีความสวยงาม เพื่อความเจริญของเมือง ไม่ใช่การขุดเล่น โดยเฉพาะสายไฟฟ้าแรงสูง ที่หากนำลงดิน ต้องลงไปลึกมาก อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก และต้องขอความร่วมมือจากหลายหน่วยงานช่วยกันดูแล เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องชาวกรุงเทพมหานคร” นายชัชชาติกล่าว
ที่มา : กรุงเทพมหานคร
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส