วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงผลสรุปการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยระบุว่า รัฐบาลได้หาข้อสรุปที่ดีที่สุดในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการเติมเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ 600,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 500,000 ล้านบาท ครอบคลุมประชาชน 50 ล้านคน และกองทุนเพิ่มขีดความสามารถอีก 100,000 ล้านบาท
ความแตกต่างจากตอนหาเสียง
นายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ผู้ได้รับสิทธิโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีการเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงที่มีการหาเสียงไว้ เนื่องจากรัฐบาลได้เปิดรับฟังความเห็นจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาพัฒน์ และหน่วยงานอื่น ๆ จึงได้มีการปรับเงื่อนไขให้รัดกุมขึ้น รวมถึงการขยายพื้นที่การใช้จ่าย
เบื้องต้นผู้ได้รับสิทธิโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ได้แก่ คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่ถึง 70,000 บาทต่อเดือน และมีเงินฝากทุกบัญชีรวมกันน้อยกว่า 500,000 บาท ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวครอบคลุมประชาชนราว 50 ล้านคน นอกจากนี้ ยังมีการขยายพื้นที่การใช้จ่ายเป็นร้านค้าภายในพื้นที่อำเภอตามบัตรประชาชน โดยใช้วิธีการซื้อสินค้าจากร้านค้าแบบ Face to Face เท่านั้น
นายกรัฐมนตรีระบุว่า เงินทั้งหมดในโครงการนี้จะถูกส่งตรงไปให้กับประชาชนที่ผ่านเงื่อนไขเข้าไปยังกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งจะมีการกำหนดขอบเขตการใช้งานเอาไว้แล้ว รวมถึงระยะเวลา 6 เดือนสำหรับการใช้ “ครั้งแรก” ก็ถูกกำหนดขึ้นมา เพื่อให้เงินมีการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งหากไม่มีการใช้งาน สิทธิที่เหลืออยู่ก็จะถูกยกเลิกไปโดยอัตโนมัติ ในขณะที่เงินที่ถูกใช้และเข้าไปอยู่ในระบบแล้ว จะสามารถใช้จับจ่ายต่อได้จนถึงเดือนเมษายน ปี 2570
ดัน 2 นโยบายเสริมทัพดิจิทัลวอลเล็ต
สำหรับผู้ไม่ได้เข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต นายกรัฐมนตรีระบุว่า รัฐบาลจะออกโครงการ e-Refund เพื่อให้ประชาชนที่ซื้อสินค้าและบริการมูลค่า 50,000 บาท นำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์มาประกอบการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อขอลดหย่อนภาษี โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป
ในส่วนของกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า เป็นการนำมาต่อยอดอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ของประเทศ เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การพัฒนาบุคลากรและการศึกษา เป็นต้น โดยกองทุนนี้จะใช้ในการดึงดูดผู้มีความสามารถให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ต่อเนื่องต่อไป
“โดยสรุปแล้วนโยบายทั้งหมดนี้จะส่งผลดีต่อประเทศใน 2 ด้าน ได้แก่ การกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในระยะสั้น โดยมีประชาชนทุกภาคส่วนเป็นกลไกที่สำคัญผ่านการบริโภคและการลงทุน และวางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และ E-Government ซึ่งเป็นการวางและแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศในระยะยาว” นายเศรษฐากล่าว
พ.ร.บ. เงินกู้ 500,000 ล้านบาท
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงรายละเอียดและที่มาของงบประมาณที่จะใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า คำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ การออกพระราชบัญญัติเป็นวงเงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งต้องผ่านกระบวนการการตีความโดยกฤษฏีกา เพื่อให้การออก พ.ร.บ. กู้เงิน เป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุม ไม่ขัดต่อหลักกฏหมายที่เกี่ยวข้อง และมีความโปร่งใสภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภา เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่า จะได้รับการอนุมัติโดยรัฐสภา และเป็นไปตามมาตรา 53 ของพระราชบัญญัติ วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
ทั้งนี้ พ.ร.บ. การกู้เงินดังกล่าว จะระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินแผนงาน หรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
นายกรัฐมนตรีระบุว่า รัฐบาลจะกู้เงินก็ต่อเมื่อมีการนำเงินไปใช้ และนำมาขึ้นเป็นเงินสด ซึ่งนี่จะเป็นการทำให้เงินในระบบทั้งหมดใหญ่ขึ้นกว่า 500,000 ล้านบาท ซึ่งจะหมุนเวียนและกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยยะ ผสมกับงบประมาณ 100,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการที่กล่าวไปทั้งหมด
“ทุกท่านไม่ต้องห่วงเรื่องของการใช้เงินคืน รัฐบาลจะมีแผนจัดสรรเงินงบประมาณ เพื่อจ่ายคืนเงินส่วนที่เป็นเงินกู้ตลอดระยะเวลา 4 ปี” นายเศรษฐากล่าว
ผลกระทบต่อเงินเฟ้อ
สำหรับความกังวลเรื่องเงินเฟ้อนั้น นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า สถานการณ์เงินเฟ้อในปัจจุบันของไทย อยู่ในระดับต่ำ ทำให้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะไม่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ หรือทำให้เกิดผลเสียต่อพี่น้องประชาชนอย่างแน่นอน ภายใต้การดำเนินโครงการที่จะมีแผนบริหารจัดการโครงการที่ดี รวมถึงการประมาณการรายจ่ายแหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการ และประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการทั้งหมดตามที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งรัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามสถานการณ์ด้านการคลังของประเทศ ตามข้อเสนอแนะของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ต่อยอด ‘เป๋าตัง’ ด้วยบล็อกเชน
นายกรัฐมนตรีอธิบายว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะใช้การพัฒนาและต่อยอดระบบ ‘เป๋าตัง’ ซึ่งมีประชาชนลงทะเบียนอยู่แล้ว 40 ล้านคน และร้านค้าอีกกว่า 1.8 ล้านร้านค้า ซึ่งสะท้อนความพร้อมด้านเทคโนโลยีของแอปพลิเคชันเป๋าตัง และเป็นการลดระยะเวลา ลดการใช้งบประมาณ และลดความซ้ำซ้อนในดูแลรักษาระบบ นอกจากนี้ กระทรวงการคลังและประชาชนก็มีความคุ้นเคยกับแอปพลิเคชันดังกล่าว ทำให้สามารถกำกับดูแลและบริหารจัดการได้ง่าย
อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันการทุจริตต่าง ๆ รัฐบาลจะพัฒนาและต่อยอดระบบ ‘เป๋าตัง’ ให้สามารถทำงานโดยมีเทคโนโลยีบล็อกเชนอยู่ด้านหลังเป็นโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้สามารถป้องกันการทุจริต ตรวจสอบได้ทันที และเป็นการวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงการทำ e-Government ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง สร้างความโปร่งใส และลดการทุจริตได้อย่างเป็นรูปธรรม
ไม่ใช่การเสกเงินจากอากาศ
นายกรัฐมนตรียืนยันว่า เงินทั้งหมดในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไม่ได้มาจากการเสกเงิน สร้างเงิน พิมพ์เงิน การออกเหรียญผ่าน Initial Coin Offering (ICO) หรือการเขียนโปรแกรมสร้างเงินเหมือนกับคริปโทเคอร์เรนซีต่าง ๆ และไม่ได้เป็นการนำเงินไปซื้อเหรียญมาแจกประชาชน ดังนั้น เงินทั้งหมดในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไม่สามารถนำไปเทรด แลกเปลี่ยน โอนให้กันและกัน เก็งกำไรผ่านตลาดหลักทรัพย์ หรือกระดานซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้
โดยเงินทั้งหมดในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีที่มาจากเงินบาท และมีมูลค่าเป็นเงินบาทที่มีเงื่อนไขในการใช้งาน เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจสูงกว่าอัดฉีดที่ผ่านมา ฉะนั้น เงิน 1 บาทในโครงการนี้ก็คือ 1 บาท ในกระเป๋าเงินของประชาชนที่สามารถใช้จ่ายได้ ทำให้โครงการนี้ต้องมีการลงทะเบียนรับสิทธิทั้งร้านค้า และยืนยันรับสิทธิโดยประชาชนนั่นเอง
โครงการดิจิทัลวอลเล็ตไม่ใช่การสงเคราะห์ประชาชนผู้ยากไร้ แต่เป็นการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจผ่านสิทธิการใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทร่วมกับรัฐบาล ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจผ่านสิทธิการใช้จ่าย 10,000 บาท
เศรษฐา ทวีสิน
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีระบุว่า รายละเอียดทั้งหมดที่แถลงในวันนี้ (10 พ.ย. 66) ยังต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย และมติคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะสรุปเป็นรายละเอียดโครงการที่แน่นอนทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง
ที่มา : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส