วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงผลสรุปการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) โดยกล่าวถึงเงื่อนไขของโครงการว่า ตอนนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงที่มีการหาเสียงไว้ เนื่องจากรัฐบาลได้เปิดรับฟังความเห็นจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาพัฒน์ และหน่วยงานอื่น ๆ จึงได้มีการปรับเงื่อนไขให้รัดกุมขึ้น รวมถึงการขยายพื้นที่การใช้จ่าย โดยมีรายละเอียดดังนี้
ผู้ได้รับสิทธิ์โครงการดิจิทัลวอลเล็ต
- คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป
- มีรายได้ไม่ถึง 70,000 บาทต่อเดือน
- มีเงินฝากทุกบัญชีรวมกันน้อยกว่า 500,000 บาท
ทั้งนี้ ประชาชนที่มีรายได้เกิน 70,000 บาทต่อเดือน แต่มีเงินฝากน้อยกว่า 500,000 บาท จะไม่ได้รับสิทธิ์ดังกล่าว หรือถ้ามีรายได้น้อยกว่า 70,000 บาทต่อเดือน แต่มีเงินฝากมากกว่า 500,000 บาท ก็จะไม่ได้รับสิทธิ์เช่นกัน ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขดังกล่าวแล้วจะทำให้มีประชาชนผู้ได้รับสิทธิ์โครงการดิจิทัลวอลเล็ตราว 50 ล้านคน
ดิจิทัลวอลเล็ตซื้ออะไรได้บ้าง ?
- อาหารและเครื่องดื่ม
- สินค้าอุปโภคและบริโภค
ดิจิทัลวอลเล็ตซื้ออะไรไม่ได้
- สินค้าออนไลน์
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม และพืชกระท่อม
- ผลิตภัณฑ์จากกัญชาและพืชกระท่อม
- บัตรกำนัล บัตรเงินสด
- ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี
- น้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ
- ไม่สามารถชำระค่าบริการได้
- ไม่สามารถชำระหนี้สินได้
- ไม่สามารถชำระค่าเรียน – ค่าเทอมได้
- ไม่สามารถชำระค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์
- ไม่สามารถแลกเป็นเงินสด
- ไม่สามารถแลกเปลี่ยนในตลาดต่าง ๆ เช่น ตลาดหลักทรัพย์ ตลาดคริปโทเคอร์เรนซี เป็นต้น
ร้านค้าในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
- ใช้ซื้อสินค้าได้ทุกร้านค้า ไม่ได้จำกัดเฉพาะร้านที่อยู่ในระบบภาษี
- ร้านค้าไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
- ร้านค้าที่จะขึ้นเงินสดได้ต้องอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น
สำหรับร้านค้าในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต นับรวมถึงร้านค้ารถเข็น ร้านโชห่วย ร้านค้าที่อยู่บนแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ สามารถเข้าร่วมโครงการได้ทั้งหมด แต่ต้องมีการลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ
ดิจิทัลวอลเล็ตใช้งานอย่างไร ?
- ใช้ซื้อสินค้าจากร้านค้าภายในพื้นที่อำเภอตามบัตรประชาชนเท่านั้น
- ใช้ซื้อสินค้าจากร้านค้าแบบ Face to Face เท่านั้น
สำหรับระบบการใช้งานดิจิทัลวอลเล็ต นายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า จะมีการพัฒนาและต่อยอดจากแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อป้องกันการทุจริตและสร้างความโปร่งใส เนื่องจากสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ทันที และแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ นั้น มีประชาชนลงทะเบียนอยู่แล้ว 40 ล้านคน และมีร้านค้าอยู่แล้วกว่า 1.8 ล้านร้านค้า ทำให้ลดระยะเวลา ลดงบประมาณ ลดความซ้ำซ้อนในการดูแลรักษาระบบ รวมถึงประชาชนมีความคุ้นเคยกับระบบดี
ดิจิทัลวอลเล็ตใช้ได้เมื่อไร ?
โครงการดิจิทัลวอลเล็ตคือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่จะทำควบคู่ไปกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว โดยมีอีก 2 นโยบายเพิ่มเติม ได้แก่ นโยบาย e-Refund เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย และกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ ดังนั้น ระยะเวลาการดำเนินโครงการจึงมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- ตีความโดยกฤษฎีกาและดำเนินกระบวนการสภา : เริ่มต้นเดือนพฤศจิกายน 2566
- โครงการ e-Refund : เดือนมกราคม 2567
- โครงการดิจิทัลวอลเล็ต : เดือนพฤษภาคม 2567
- กองทุนเพิ่มขีดความสามารถ : เดือนมิถุนายน 2567
ผู้ไม่ได้รับสิทธิโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
นายกรัฐมนตรีระบุว่า รัฐบาลจะออกโครงการ e-Refund เพื่อให้ประชาชนที่ซื้อสินค้าและบริการมูลค่า 50,000 บาท นำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์มาประกอบการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อขอลดหย่อนภาษี โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีระบุว่า รายละเอียดทั้งหมดที่แถลงในวันนี้ (10 พ.ย. 66) ยังต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย และมติคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะสรุปเป็นรายละเอียดโครงการที่แน่นอนทั้งหมดอีกครั้ง
ที่มา : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, NBT, พรรคเพื่อไทย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส