ที่ประชุม ครม.เห็นชอบหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และเพิ่มหลักการ ว่าด้วย ค่าทดแทน และเหตุฟ้องหย่าให้ครอบคลุมกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งไปมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม นอกจากนี้ยังมีการแก้ไข สถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรส ชายหญิง ซึ่งจะเปลี่ยน จาก ชาย – หญิง เป็น บุคคล – บุคคล รวมถึง ผู้หมั้น – ผู้รับหมั้น
“เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายให้การรับรองสิทธิ์ในการก่อตั้งครอบครัวของคู่รักเพศเดียวกัน ซึ่งแตกต่างจากสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีคู่รักเพศเดียวกันอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวจำนวนมาก โดยขาดเครื่องมือทางกฎหมายในการจัดการความสัมพันธ์ทางครอบครัว ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อครอบครัวหลากหลายทางเพศหลายประการ เช่น สิทธิ์ในการตัดสินใจในการรักษาพยาบาล สิทธิ์ในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน สิทธิ์ในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน และสิทธิในการรับมรดก ประกอบกับคำแถลงนโยบายของคณะรัญมนตรี เมื่อวันที่ 11 กันยายน 66 ซึ่งได้แถลงต่อรัฐสภาว่า รัฐบาลจะผลักดันให้มีกฎหมายสนับสนุนสิทธิ์และความเท่าเทียมของกลุ่มหลากหลายทางเพศ นายกรัฐมนตรีจึงมีข้อสั่งการ ให้กระทรวงยุติธรรมเร่งดำเนินการเสนอร่าง พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่)..)พ.ศ….. (สมรสเท่าเทียม) ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในประเทศไทยทั้งในมิติด้านสังคมและการสร้างครอบครัว โดยจะทำให้เกิดการยอมรับในทางกฎหมายกับการสร้างครอบครัว การอยู่ร่วมกันของบุคคลมีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ของคู่สมรสเพศเดียวกัน
ส่วนการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่นๆ เช่น การจ่ายเงินบำเหน็จตกทอดตามกฎหมายว่าด้วย บำเหน็จบำนาญข้าราชการ กำหนดให้จ่ายเงินแก่ สามี หรือ ภริยา แต่เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายแล้วนั้น ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการให้สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่ครม.รับรองกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อใช้ในการรับรองการสมรสเท่าเทียม โดยจะนำเข้าสภาในวันที่ 12 ธันวาคมนี้
ที่มา : ไทยคู่ฟ้า
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส