ปลายปีแบบนี้ หลายคนกำลังมองหาทางเลือกลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมกันอยู่ใช่ไหม ? ซึ่งทางเลือกที่ค่อนข้างได้รับความนิยมคือการซื้อกองทุนรวม RMF ซึ่งให้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี ยิ่งภาวะตลาดแบบนี้ก็น่าจะจูงใจให้หลายคนเลือกลดหย่อนภาษีจากกองทุนรวม เพราะเหมือนซื้อของถูกราวกับแปะป้ายเซลสีแดง ๆ ไว้

แต่อย่าลืม!! ข้อสำคัญของการลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีที่จะมีเงื่อนไขอยู่พอสมควร เพราะกรมสรรพากรเขาให้สิทธิประโยชน์นี้ก็เพื่อส่งเสริมให้คนไทยออมเพื่อเกษียณกันให้มากขึ้น บทความนี้เราจะมา BRIEF ให้ฟังว่า หากจะซื้อขายกองทุน RMF ต้องทำอย่างไรไม่ให้ผิดเงื่อนไขภาษี และหากเผลอทำผิดเงื่อนไขไปแล้ว เราจะต้องเจอกับอะไรบ้าง ไปดูกันเลย!

รายละเอียดและเงื่อนไขของ RMF

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ Retirement Mutual Fund (RMF) สามารถลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท โดยเงื่อนไขคือต้องถือครองไม่น้อยกว่า 5 ปี ขายคืนได้เมื่ออายุ 55 ปีบริบูรณ์ และต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี เว้นได้ไม่เกิน 1 ปี ทั้งนี้ เมื่อคำนวณจำนวนลดหย่อนภาษีของ RMF รวมกับการออมเพื่อเกษียณอื่น ๆ  แล้วจะลดหย่อนได้ไม่เกิน 500,000 บาท

ยกตัวอย่าง เรามีการลดหย่อนภาษีอื่น ๆ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและซื้อประกันบำนาญไปแล้วประมาณ 200,00 บาท เราก็อาจจะซื้อกองทุนรวม RMF ได้ที่ 300,000 บาท เพื่อให้สามารถใช้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ถ้าอยากลงทุนอยู่แล้ว โดยไม่ได้สนใจเรื่องการลดหย่อนภาษีมากนัก ก็สามารถซื้อเกินกว่าจำนวนดังกล่าวได้

จะเป็นอย่างไร ? เมื่อทำผิดเงื่อนไขของ RMF

  1. ถือครองไม่ครบ 5 ปี และขายก่อนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ : เราจะต้องคืนเงินภาษีที่เคยได้รับการลดหย่อน 5 ปีย้อนหลัง และกำไรจากการลงทุนที่ต้องนำมาเสียภาษี
  2. ถือครองมาเกิน 5 ปี แต่ขายคืนก่อนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ : เราจะต้องคืนเงินภาษีที่เคยได้รับการลดหย่อน 5 ปีย้อนหลัง ส่วนกำไรจากการลงทุนจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี
  3. ซื้อ RMF เกินสิทธิ์ ไม่ว่าจะเกิน 30% ของเงินได้ หรือซื้อเกิน 500,000 บาท : ในส่วนของกำไรจากส่วนที่ซื้อเกินสิทธิ์ เราจะต้องเสียภาษีเมื่อขายคืน
  4. ซื้อไม่ต่อเนื่อง เพราะ RMF มีเงื่อนไขซื้อต่อเนื่องทุกปี เว้นได้ไม่เกิน 1 ปี หากขาดติดต่อกัน 2 ปี จะถือว่าผิดเงื่อนไข : เราจะต้องคืนเงินภาษีที่เคยได้รับการลดหย่อน 5 ปีย้อนหลัง
    • ทั้งนี้ มีประเด็นหนึ่งที่อาจจะมีหลายคนเข้าใจผิดว่า การซื้อต่อเนื่องจะนับตามปีไปเรื่อย ๆ เช่น ในช่วง 5 ปี เราซื้อ 3 ครั้ง แล้วขายได้ เพราะถือมา 5 ปีแล้ว แต่ความจริงจะนับเฉพาะปีที่ซื้อเท่านั้น เช่น หากเริ่มซื้อตอนอายุ 50 ปี และพยายามซื้อต่อเนื่องทุกปี แต่ลืมซื้อไป 1 ปี ระบบจะนับให้เพียง 4 ปีเท่านั้น หากอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ แล้วขายออก เพราะคิดว่าซื้อต่อเนื่องมา 5 ปีแล้ว อาจจะผิดเงื่อนไขภาษีได้
  5. ไม่ได้แจ้งความประสงค์ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี
    • เงื่อนไขนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา ที่กรมสรรพากรได้กำหนดให้ผู้ที่ซื้อ RMF และ SSF ที่จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีต้องแจ้งความประสงค์ ไปยัง บลจ. ที่ซื้อหน่วยลงทุนให้ครบทุกแห่งภายในวันทำการสุดท้ายของปี เพื่อให้ บลจ. นำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรโดยตรง แทนการที่เราต้องยื่นเอกสารเอง ทั้งนี้ หากเราไม่แจ้งความประสงค์ก็อาจใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีไม่ได้ แต่เรื่องดีก็คือ เราแจ้งเพียงครั้งเดียวก็สามารถใช้ได้ตลอดไป ไม่ต้องแจ้งทุกปี

อย่างไรก็ตาม การซื้อกองทุนรวม RMF มีประโยชน์เรื่องการลดหย่อนเป็นสิ่งที่เสริมเข้ามา แต่ประโยชน์ที่แท้จริงคือ เรากำลังเก็บเงินสำหรับไว้ใช้เมื่อเกษียณกันอยู่ ฉะนั้น แค่ซื้อเพื่อลดหย่อนยังไม่พอ โดยก่อนที่จะซื้อกองทุนรวม RMF อาจจะต้องเลือกกองทุนที่มีนโยบายที่ดี มีอนาคตที่จะเติบโต เพื่อให้มีโอกาสได้ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อไว้ใช้ยามเกษียณได้แบบชิว ๆ

ที่มา : ก.ล.ต.

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส