น่าจะเป็นข่าวดีสำหรับผู้เสียภาษี เพราะรัฐบาลมีมาตรการลดหย่อนภาษีใหม่มาเพิ่มเติมอีกแล้ว แต่เป็นของปี 2567 นั่นก็คือมาตรการ “Easy e-Receipt” บทความนี้ beartaiBRIEF จะพาทุกคนมาดูแนวทางการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีตามมาตรการใหม่นี้กัน
รายละเอียด Easy e-Receipt
Easy e-Receipt เป็นมาตรการที่ให้ผู้ที่มีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล นำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ไปหักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท โดยต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูป ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร
สินค้าและบริการที่เข้าร่วม
สินค้า บริการ รวมถึงการทานอาหารใด ๆ กับร้านที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถเข้าร่วมมาตรการ Easy e-Receipt “ได้หมด” โดยเราต้องแจ้งกับร้านค้าว่า ขอใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากรให้ชัดเจน
ในกรณีที่จะซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ต้องได้ใบรับในรูปแบบใบรับอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร ซึ่งสินค้าและบริการในกลุ่มนี้ ได้แก่ ค่าหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร, ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต, ค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชนแล้ว
สำหรับสินค้าและบริการที่ไม่เข้าร่วมมาตรการ Easy e-Receipt มีทั้งสิ้น 6 รายการ ได้แก่
- ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
- ค่าซื้อยาสูบ
- ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
- ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
- ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต ค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาว ซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 (แม้ว่าจะจ่ายค่าบริการระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ก็ตาม)
- ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย (โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่น ๆ เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด)
รู้ก่อนช้อป! ลดหย่อนภาษีได้เท่าไร
ถ้าใครที่เงินเดือนหรือรายได้ไม่ถึง 26,000 บาท ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมมาตรการนี้ก็ได้ เพราะรายได้ไม่ถึงระดับที่ต้องเสียภาษี และหากเงินเดือนแตะ 26,500 บาทพอดี แต่มีลดหย่อนประกันสังคม ม.33 ก็ไม่ต้องเสียภาษีเช่นกัน เนื่องจากรายได้สุทธิ 150,000 บาทแรก จะได้รับการยกเว้นภาษี ทีนี้มาดูกันว่า ฐานภาษีแต่ละขั้นหากช้อป Easy e-Receipt สูงสุด 50,000 บาท จะลดหย่อนได้เท่าไร
เงินได้สุทธิ (บาท) | อัตราภาษี | ลดหย่อนภาษี Easy e-Receipt สูงสุด (บาท) |
---|---|---|
150,001 – 300,000 | 5% | 2,500 |
300,001 – 500,000 | 10% | 5,000 |
500,001 – 750,000 | 15% | 7,500 |
750,001 – 1,000,000 | 20% | 10,000 |
1,000,001 – 2,000,000 | 25% | 12,500 |
2,000,001 – 5,000,000 | 30% | 15,000 |
5,000,001 ขึ้นไป | 35% | 17,500 |
ดังนั้น ก่อนช้อปเพื่อรับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีตามมาตรการ Easy e-Receipt แนะนำว่า ควรคำนวณข้อมูลฐานภาษีและค่าลดหย่อนที่มีอยู่แล้วของตัวเองก่อน เพราะหลายคนมีการลดหย่อนภาษีอยู่แล้ว เช่น ประกันสังคม ประกันชีวิต กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ดอกเบี้ยบ้าน รวมทั้งกองทุน SSF กองทุน RMF ซึ่งบวกไปบวกมา อาจจะเหลือการใช้สิทธิลดหย่อนไม่มากก็ไม่จำเป็นต้องช้อปเพื่อลดหย่อนภาษีจนเต็มสิทธิ์ก็ได้
โดย beartaiBRIEF แนะนำให้ลองคำนวณวางแผนภาษีจากเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ (คลิกที่นี่) ส่วนใครที่ต้องการเข้าร่วมมาตรการ Easy e-Receipt ก็อย่าลืมดูเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ใช้ได้ รวบรวมหลักฐานการซื้อสินค้าและบริการ รวมทั้งคำนวณค่าใช้จ่ายให้ดี เดี๋ยวช้อปเพลินเกิน 50,000 บาท รูดปรื๊ด ๆ จะเสียดอกเบี้ยไม่คุ้มกับค่าลดหย่อนไปไม่รู้ด้วยนะ!
ที่มา : กระทรวงการคลัง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส