นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน – ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ โดยระบุว่าการพูดคุยกันเป็นไปด้วยมิตรภาพและเปิดโอกาสให้มีการเร่งการลงทุนได้อย่างลงตัว โดยตนมั่นใจว่าโครงการที่มีการพูดคุยทุกโครงการจะเกิดขึ้นภายใน 4 ปี และสำเร็จเป็นรูปธรรมภายในรัฐบาลนี้
ทั้งนี้ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปสาระสำคัญของการประชุมสุดยอดอาเซียน – ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ และการหารือของนายกรัฐมนตรีกับภาคเอกชนที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
ภารกิจวันแรก (15 ธ.ค. 66) นายกรัฐมนตรีได้พบหารือกับนายไซโต เคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ซึ่งได้ยืนยันว่าญี่ปุ่นมีการค้าและความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทย ในส่วนของการสัมมนา BOI ที่มีนักธุรกิจญี่ปุ่นจำนวนกว่า 500 คน เข้ารับฟังการสัมมนานั้น เป็นโอกาสยืนยันความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่น ที่มีมาอย่างยาวนาน
ทั้งนี้ ภายในการสัมมนายังมีการพูดถึงการลงทุนร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เช่น พลังงานสีเขียว ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และโครงการขนาดใหญ่ของไทยอย่าง Landbridge อีกด้วย
สำหรับการหารือกับภาคเอกชนที่สำคัญ นายกรัฐมนตรีได้พูดคุยกับบริษัท Mitsui เกี่ยวกับการตรวจเจาะการส่งก๊าซ ซึ่งเป็นประเด็นที่สนใจและมีความชำนาญ ในขณะที่การพูดคุยกับบริษัท Honda ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำการลงทุนในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน โดยระบุว่า Honda มีแผนที่จะลงทุนอีก 50,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า โดยนายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้เร่งการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้า (EV) หรือรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid: PHEV) เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทย
ทางด้านบริษัท Nissan ยังคงยืนยันที่จะลงทุนกับประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นบริษัทที่เริ่มทำธุรกิจด้านรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แล้ว ส่วนบริษัท Mitsubishi สนใจที่จะผลิตรถกระบะไฟฟ้า (Pickup EV) ซึ่งเป็นประเภทรถยนต์ที่ขายดีที่สุดในประเทศไทย และน่าจะเป็นโอกาสในการพัฒนาพลังงานสะอาด
บริษัท Isuzu ระบุว่าพร้อมจะลงทุนอีก 32,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ที่มีการลงทุน 20,000 ล้านบาท ถือเป็นจำนวนการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้เริ่มลงทุนเร็วขึ้น และใช้ประเทศไทยเป็นฐานการส่งออก ในขณะที่บริษัท Suzuki ซึ่งมีการลงทุนในประเทศไทยมานานแล้ว นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
สำหรับบริษัทสุดท้ายคือ Toyota เป็นบริษัทที่มีการลงทุนขนาดใหญ่ที่สุดและลงทุนในประเทศไทยมามากกว่า 60 ปี ได้นำเสนอความกังวลเรื่องสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศและเรื่องสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีได้ให้ความมั่นใจเรื่องนี้ และขอให้ Toyota เร่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้เร็วขึ้น สำหรับเรื่องสินเชื่อรถยนต์นั้นเป็นประเด็นที่รัฐบาลตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหา โดยนายกรัฐมนตรีเสนอให้ Toyota ช่วยเรื่องการปรับหนี้
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมสุดยอดอาเซียน – ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ และการหารือของนายกรัฐมนตรีกับภาคเอกชนที่สำคัญ นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า การหารือในวันนี้ทำให้ตระหนักถึงความสำคัญกับความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่นมากขึ้น และเมื่อหารือแล้วก็มีความสนใจด้านพลังงานไฮโดรเจน พลังงานทางเลือก และพลังงานน้ำเพิ่มเติม
ประกอบกับ 40% ของรถยนต์ที่ขายในช่วงมอเตอร์โชว์ปีนี้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าก็ยิ่งทำให้มั่นใจได้ว่า สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวเร่งให้สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นและครอบคลุมทั่วประเทศ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า ทุกโครงการที่มีการหารือวันนี้จะเกิดขึ้นภายใน 4 ปี และสำเร็จเป็นรูปธรรมภายในรัฐบาลนี้
ที่มา : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส