การเปลี่ยนงานถือเป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็ตัดสินใจทำเมื่อไม่พึงใจกับองค์กรเดิม ซึ่งหลายคนอาจจะเบื่อกับชีวิตมนุษย์เงินเดือน อยากออกมาใช้ชีวิตฟรีแลนซ์ หรืออยากค้าขายออนไลน์ อาชีพยอดฮิตแห่งยุคดิจิทัล แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องจัดการหลังจากการลาออก นั่นก็คือ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” หนึ่งในสวัสดิการเพื่อรองรับวัยเกษียณที่เคยได้รับยามเป็นมนุษย์เงินเดือนนั่นเอง

บทความนี้ beartai BRIEF เปิดเผย Do & Don’t เมื่อต้องจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) หลังลาออกแล้ว จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย!

Don’t

‘สิ่งที่อย่าหาทำ’ หากไม่จำเป็นจริง ๆ นั่นคือ การ “ขายทิ้ง” เพราะจะทำให้คุณประสบภาวะ “ได้ไม่คุ้มเสีย” โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานมาได้ไม่กี่ปี อาจจะคิดว่าเงินกองทุนที่สะสมมาส่วนนี้ยังเล็กน้อย สู้ถอนเอามาใช้จ่ายเสียดีกว่า

ต้องบอกเลยว่า หากคุณอายุยังไม่ถึง 55 ปี แล้วขายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกไป สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เคยได้รับในอดีตก็จะถูกเรียกคืนทั้งหมด แถมยังต้องเสียภาษีเพิ่มอีกหลายต่อ ทั้งส่วนที่นายจ้างจ่ายสมทบมาและส่วนที่เป็นกำไรจากเงินลงทุน เรียกว่าเงินที่ได้จากการขายจะไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยอย่างที่คิด ดังนั้น หากไม่เดือนร้อนที่ต้องใช้เงินก้อนนี้จริง ๆ เก็บต่อไปจะดีกว่า แล้วจะเก็บต่อไปอย่างไร ? ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขชีวิตคุณหลังจาการลาออก ดังนี้

ย้ายงานใหม่

หากคุณย้ายงานใหม่ก็สามารถนำ PVD จากบริษัทเก่าโอนเข้ามาสู่ที่ใหม่ได้หลังจากผ่านทดลองงานแล้ว หรือคง PVD ไว้ที่กองทุนเดิมก่อนในช่วงที่ยังไม่พ้นการทดลองงาน เมื่อได้บรรจุเข้าเป็นพนักงานประจำแล้ว เราก็เลือกโอนย้ายพอร์ตไปอยู่กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทใหม่

หรือหากผู้บริหารกองทุนเดิมทำผลงานได้ดี จะเลือกคงไว้ที่เดิมรับผลตอบแทนได้ต่อเนื่องก็ไม่ผิดอะไรจนกว่าจะอายุ 55 ปี ค่อยถอนเงินออกมาเพื่อรับสิทธิยกเว้นภาษี และสำหรับผู้ที่ย้ายงานไปบริษัทที่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ ก็สามารถใช้วิธีนี้ได้เช่นกัน แต่ข้อเสียของวิธีนี้คือจะมีค่าธรรมเนียมทางผู้บริหารกองทุนจะเรียกเก็บ โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 500 บาทต่อปี

ลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์หรือเจ้านายตัวเอง

ในกรณีที่ไม่จำเป็นต้องโอนย้าย PVD  ไปที่ทำงานใหม่ เราสามารถเลือกที่จะคง PVD เอาไว้แม้จะลาออกจากที่ทำงานแล้วก็ตาม เพื่อรับผลตอบแทนต่อเนื่องไปจนกว่าจะอายุ 55 ปี ค่อยถอนเงินออกมาเพื่อรับสิทธิ์ยกเว้นภาษี โดยผู้จัดการกองทุนก็จะยังคงทำหน้าที่บริหารพอร์ตให้คุณต่อไป เพียงแต่จะไม่มีเงินสบทบจากนายจ้างใส่เข้ามาเหมือนเดิม โดยวิธีนี้จะมีค่าธรรมเนียมเรียกเก็บเช่นกัน 

อีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ออกจากงานประจำ คือการโอนไปที่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่สามารถรองรับ PVD หรือที่เรียกว่า RMF for PVD  ซึ่งในปัจจุบันก็มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนหลายแห่งที่ให้บริการ RMF for PVD และมีนโยบายลงทุนให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ขึ้นกับสินทรัพย์และระดับความเสี่ยงที่ต้องการ เพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่มากกว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในบริษัทที่มีนโยบายลงทุนให้เลือกไม่มากนัก และที่สำคัญไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการรักษาบัญชีรายปีแบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีกด้วย

ทั้งนี้ แม้ว่าเราจะลาออกจากงานแล้วก็อย่ามองข้ามความสำคัญของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ยิ่งวันนี้เรายังแข็งแรง ยิ่งควรต้องรีบเก็บออมเงินก้อนหนึ่งไว้ เพราะหากวัยเกษียณมาถึง เราจะรู้สึกขอบคุณตัวเองที่เพียรเก็บเล็กผสมน้อยเพื่อให้มีเงินสำรองสำหรับใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในช่วงบั้นปลาย

ที่มา : Principal Thailand

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส