แม้ว่าปัจจุบันเราจะมีโซเชียลมีเดียและแฟลตฟอร์มต่าง ๆ ที่ทำให้เรารู้จักผู้คนมากขึ้น แต่บางการตามหารักแท้อาจจะยากขึ้นกว่าเดิมก็เป็นได้
พอล ซี บรันสัน (Paul C Brunson) ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระดับโลกของ Tinder และผู้เขียนหนังสือ Find Love: How to Navigate Modern Love and Discover the Right Partner for You บอกว่าการตามหารักแท้ในปัจจุบันนั้นยากกว่าแต่ก่อน เหตุผลสำคัญคือเรามีรูปแบบของความรักที่หลากหลายมากในปัจจุบัน เช่น บางคนสามารถมีคู่สมรสเพียงคนเดียวหรืออยู่ในความสัมพันธ์ที่มีคนรักหลายคน, การอยู่ด้วยกันหรืออยู่ห่างกัน ด้วยรูปแบบของความรักที่หลากหลาย นั่นทำให้การค้นหาคู่ครองที่ตรงกับใจของเรามากที่สุดเป็นเรื่องที่ยาก
อย่างที่สอง เรามีความต้องการสิ่งต่าง ๆ จากคู่รักของเรามากขึ้น สมัยก่อนเราอาจมีคู่เพียงช่วยดูแลหรือเลี้ยงดูเด็ก ช่วยงานไร่งานฟาร์มบ้าง เมื่อเวลาผ่านไป บทบาทของคู่รักก็เหมือนเพื่อนแท้ แต่สำหรับปัจจุบันนั้น เอลี ฟิงเกล (Eli Finkel) นักจิตวิทยาบอกว่าเราต้องการทุกสิ่งทุกอย่างจากคู่ของเรา เราต้องการให้คู่รักของเราเป็นคู่คิด, เป็น CEO ที่เปิดบริษัทมาด้วยกัน, เป็นพ่อหรือแม่คนที่ดี และต้องเป็นคู่นอนที่สามารถให้ประสบการณ์เรื่องบนเตียงที่น่าพอใจอีกด้วย
ในแง่ของเทคโนโลยีที่ทำให้เราพบผู้คนหรือออกเดตได้ง่ายขึ้นนั้น เรามีแนวคิดว่าเรามีทางเลือกที่มากมายไม่รู้จบ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเลือกอะไรที่ดีที่สุดสำหรับเราเอง บรันสันบอกว่าแม้ว่าเราจะมีแอปหาคู่กว่า 100 แอป แต่เราจะมีโอกาสที่ได้ออกเดตเพียงกี่ครั้งต่อสัปดาห์เชียว? เนื่องจากข้อจำกัดต่าง ๆ ความจริงคือเราไม่ได้มีตัวเลือกมากมายขนาดนั้น
มีประเด็นน่าสนใจที่บรันสันเขียนในหนังสือว่า โดยเฉลี่ยแล้ว คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีความสุขในชีวิตคู่ของตัวเอง แต่ยังมีคู่รักกว่า 20% ที่มีความสุข และถือว่ามีความสุขกว่าที่เคยเป็นมา สาเหตุเพราะอะไร? บรันสันบอกว่า หลาย ๆ คู่ที่แต่งงานมีความพอใจในความรักน้อยลงด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น บางคนคิดว่าตัวเองมีทางเลือกมากขึ้น คิดว่าคนอื่นดีกว่า นอกจากนี้เรายังมีความรู้ในการหาคู่มากขึ้นด้วย เช่น การประเมินรูปแบบความผูกพันธ์ที่ต้องการทางออนไลน์เพื่อดูว่าคู่เราเหมาะสมกันหรือไม่
ประเด็นนี้ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในความสัมพันธ์อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม บางคนอาจใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ในการอุดช่องว่างของความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น
ประสบการณ์ในวัยเด็กก็มีผลต่อความสัมพันธ์ในปัจจุบันเช่นเดียวกัน แบ่งเป็น 3 รูปแบบหลัก ๆ คือ
- ความผูกพันที่มั่นคงและปลอดภัย (secure attachment) โดยพื้นฐานแล้ว เด็กในความสัมพันธ์แบบนี้จะสามารถดูแลตัวเองได้เพราะรู้ตัวว่าจะมีผู้ปกครองกลับมาอย่างแน่นอน
- ความผูกพันที่สร้างความกังวล (anxious attachment) โดยพื้นฐานแล้ว เด็กในความสัมพันธ์แบบนี้จะปรับตัวได้ยากเพราะจะมีความกังวลทุกครั้งหากผู้ปกครองไม่อยู่หรือออกไป โดยต้องปรับตัวทุกครั้ง
- ความผูกพันแบบหลีกเลี่ยง (avoidant attachment) หรือเป็นความผูกพันธ์ที่เด็กไม่สนใจผู้ปกครอง เพราะพวกเขารู้สึกไม่ได้รับความสนใจหรือความใส่ใจจริง ๆ
- สุดท้ายคือความผูกพันที่ผสมกันระหว่างความวิตกกังวลและแบบหลีกเลี่ยง
สิ่งที่เราเจอในตอนเด็กมักจะแสดงผลในตอนที่เราโต และจะเป็นสิ่งที่เราแสดงออกกับคู่รักของเราเอง ทำให้เราสามารถเห็นรูปแบบของความรักที่หลากหลายเพราะประสบการณ์ในตอนเด็กเองก็มีผลเช่นเดียวกัน
ในฐานะที่บรันสันเป็นผู้เชี่ยวชาญจาก Tinder ตนได้แสดงความคิดเห็นเรื่องความผิดพลาดของผู้ใช้งาน Tinder ไว้ว่า มีหลายความผิดพลาดที่เกิดขึ้น แต่หนึ่งสิ่งที่สำคัญคือการไม่ระบุความต้องการที่ชัดเจน เช่น คุณ A กำลังมองหาคู่รักระยะยาว แต่คุณ B กำลังมองหาความสัมพันธ์ระยะสั้น หากทั้ง 2 คนนี้ไม่ได้ระบุความต้องการที่ชัดเจน การมาเจอกันก็จะกลายเป็นหายนะเลยทีเดียว อีกหนึ่งปัญหาหลักคือภาพโปรไฟล์ไม่ได้เป็นรูปปัจจุบันหรือล่าสุด หรือไม่ตรงปกเมื่อเจอกันนั่นเอง
สุดท้ายคือเรื่องของรุ่นหรือเจเนอเรชัน เช่น Gen Z ในประเทศต่าง ๆ มีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน แต่มีจุดหนึ่งที่เหมือนกันคือ Gen Z จะให้ความสำคัญกับความเป็นตัวของตัวเอง จากการวิจัยของเราที่ Tinder พบว่าเจนนี้จะมีการออกเดตครั้งที่ 2 หรือไม่จะขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาสบายใจกับการอยู่กับคู่เดตหรือไม่ ในขณะที่คนรุ่นก่อน ๆ นั้น ความดึงดูดใจทางกายยังคงเป็นเรื่องสำคัญอันดับ 1 ส่วน Gen Z ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอันดับ 2