หนังสือ How to พัฒนาตัวเอง ที่คัดสรรทักษะจำเป็นแห่งอนาคต ปลดล็อกศักยภาพสูงสุดแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อให้คุณคว้าโอกาสของตนเองในยุคสมัยแห่งความผันผวน ซึ่งผู้เขียนคือ คุณรวิศ หาญอุตสาหะ ผู้บริหารและเจ้าของพอดแคสต์ที่มีผู้ติดตามอย่างล้นหลามอย่าง ‘Mission to the Moon’
ในยุคที่โลกพลิกผันไวเป็นหน่วยวินาที ผู้ที่จะเอาชนะกระแสธารแห่งความผันผวนนี้ ไม่ใช่คนที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้าที่สุด แต่เป็นคนที่มีทักษะแห่งอนาคต
ดังนั้น รีวิวนี้จึงขอนำเสนอตัวอย่างทักษะสำคัญแห่งศตวรรษอนาคตที่น่าสนใจ ดังนี้
ทักษะการเล่าเรื่อง (Story telling)
“ในยุคที่เต็มไปด้วยข้อมูล การนำเสนอข้อเท็จจริงและตัวเลขมักเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา การเล่าเรื่องช่วยให้เสียงของผู้พูดดังขึ้น และส่งสารไปถึงผู้ฟัง”
โดยคุณรวิศ เรียบเรียงเรื่องราวเพื่อดึงความสนใจของผู้อ่านไว้ได้อย่างอยู่หมัด ถือเป็นการแสดงให้เห็นว่าทักษะการเล่าเรื่องนั้นได้ผลเพียงไหน นอกจากนี้ยังเสริมเคล็ดลับการเล่าเรื่องของแคโรลีน โอฮารา (Catherine O’Hara) นักเขียนจากนิตยสาร Harvard Business Review ดังนี้
- เริ่มต้นด้วยใจความเดียว
- เล่าผ่านประสบการณ์ส่วนตัว
- จงเป็นมนุษย์ ไม่ใช่ยอดมนุษย์
- ตอกย้ำถึงอุปสรรคที่เจอ
- อย่าทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก
- ฝึกฝนก่อนเสมอ
- เล่าด้วยภาพ
ความฉลาดในการปรับตัว (Adaptive Quotient)
แม้ว่า 50%ของความฉลาดทางสติปัญญาอย่าง IQ นั้นสร้างไม่ได้ เพราะมาจากพันธุกรรม แต่โชคดีที่ความฉลาดด้านการปรับตัวอย่าง AQ นั้นเป็นสิ่งที่ฝึกฝนได้
โดยการปรับตัวมีทั้งหมด 5 ด้านด้วยกัน คือ
- การปรับตัวด้านการเรียนรู้
- การปรับตัวด้านการตอบสนองต่ออารมณ์
- การปรับตัวด้านสังคม
- การปรับตัวด้านความคิดสร้างสรรค์
- การปรับตัวด้านการใช้ชีวิต
ซึ่งก้าวแรกของการพัฒนาทักษะนี้ คือ “การตระหนักรู้ในตนเองก่อน (Self awareness)” เพื่อให้เรารู้ว่าด้านไหนที่เราทำได้ดี และด้านไหนที่เราต้องพัฒนา
การคิดเชิงโครงสร้าง (Structured Thinking)
“โลกใบนี้เต็มไปด้วยความรู้มากมาย หากเราจำทุกอย่างได้ก็จะเป็นประโยชน์ไม่น้อย แต่ในความเป็นจริงเราไม่สามารถจดจำทุกอย่างได้ เราจึงควรฝึกฝนวิธีคิดอย่างเป็นโครงสร้างไว้ ไม่ว่าปัญหาใดๆ ก็จะมีทางออกเสมอ”
วิธีหนึ่ง ที่จะช่วยจัดโครงสร้างความคิดและการตอบคำถามได้ดี คือ ‘กฎพีระมิด’ คิดค้นโดย บาร์บารา มินโต การทำงานของกฎพีระมิดคือการคิดในรูปแบบแนวตั้ง(Vertical Logic) ซึ่งมีทั้งรูปแบบบนลงล่าง(Top-down) และล่างขึ้นบน(Bottom-up)
การคิดแบบบนลงล่างนั้น ใช้สำหรับการตอบคำถามหรือโน้มน้าวใจผู้ฟัง โดยที่เรามีคำตอบและเหตุผลครบถ้วนอยู่แล้ว และค่อยให้เราบอกคำตอบของคำถามนั้น แล้วตามด้วยเหตุผลสนับสนุน ขณะที่การคิดแบบล่างขึ้นบน นั้นใช้สำหรับการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นและวิเคราะห์ เพื่อสรุปข้อมูลก่อนตกผลึกออกมาเป็นใจความสำคัญ
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ ยังมีทักษะที่น่าสนใจอีกมากมายพร้อมให้คุณได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้ เพื่อให้คุณก้าวทันยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ชื่อหนังสือ: Ultimate skills ทักษะจำเป็นแห่งอนาคต
ผู้เขียน: รวิศ หาญอุตสาหะ
สำนักพิมพ์: Amarin HOW-TO
ราคา: 275 บาท